โดย ดร.ปฐมสุดา อินทุประภา

            การบรรยายในหัวข้อ การสร้างองค์ความรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล โดย อาจารย์บุญเลิศ อรุณพิบูลย์  ผู้อำนวยการฝ่ายบริการความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ นี้ เป็นส่วนหนึ่งของการประชุมวิชาการ เรื่อง เสริมพลังการวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในยุคการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่การบริการความรู้แบบเสรี (Empowering S&T Research with the Openness Revolution)  ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2562 ณ ห้องประชุมใหญ่ อาคารสถาบันบัณฑิตศึกษาจุฬาภรณ์ หลักสี่  

            หลังจากการวนหาที่จอดรถอยู่ราวๆ 20 นาที ซึ่งเราก็ไม่ได้ที่จอดจึงต้องอ้อนวอน คุณรปภ. หน้าอาคารช่วยจัดหาที่จอดให้ จึงจะได้ขึ้นไปที่ห้องประชุมซึ่งอยู่ชั้น 2 ของอาคารดังกล่าว  ทำให้พลาดพิธีเปิด แต่ก็ทันฟังอาจารย์บุญเลิศ บรรยายสาระน่ารู้เพื่อในการเตรียมเข้าสู่การสร้างองค์ความรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งก่อนการบรรยายจะเริ่มนั้น อาจารย์บุญเลิศก็ได้ให้ link เพื่อเข้าไปดูสไลด์การบรรยายผ่านทางโทรศัพท์มือถือหรือแท็บเล็ต ซึ่งก็คือ https://padlet.com/boonlerta/opened  ในการบรรยายครั้งนี้ อาจารย์ได้กล่าวไว้อย่างน่าสนใจว่า ก่อนที่เราจะสร้างองค์ความรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลนั้น เราต้องพิจารณาว่า องค์กรของเรามีศักยภาพในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลได้ขนาดไหน มีความพร้อมในด้าน human resources และ infrastructure แล้วหรือยัง เพราะการสร้างองค์ความรู้ในยุคนี้จำเป็นต้องสร้างองค์ความรู้ที่อยู่ในลักษณะพร้อมใช้งาน กล่าวคือ ข้อมูลที่มีการเผยแพร่หรือเชื่อมโยงผ่านระบบดิจิทัลนั้น จะต้องนำมาใช้ต่อได้ทันที ไม่ใช่อยู่ในรูปไฟล์ PDF  เท่านั้น แต่จะต้องอยู่ในรูปแบบที่ programmer หรือ end user  สามารถนำไปเชื่อมโยงเข้าระบบของตนเองได้ทันทีโดยไม่ต้องมีการนำมาแปลงหรือพิมพ์ใหม่  ดังนั้นการเตรียมความพร้อมในด้านการวางแผนทรัพยากรบุคคลและเครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ ให้พร้อมจึงมีความจำเป็นและสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในด้านบุคคลกร จำเป็นที่จะต้องมีทักษะดิจิทัล (digital literacy) เป็นอย่างดี ต้องรู้จักประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลให้ได้เต็มประสิทธิภาพ โดยสามารถใช้เครื่องมือดิจิทัลในการเข้าถึงแหล่งข้อมูลต่าง ๆ ได้ นอกจากนี้ยังต้องวิเคราะห์พร้อมทั้งประเมินคุณภาพและความน่าเชื่อถือของข้อมูลนั้นได้  และยังสามารถสร้างสรรค์เนื้อหาในรูปแบบของสื่อหรือสร้างเป็นข้อมูลพร้อมใช้ผ่านเครื่องมือดิจิทัลได้อีกด้วย  

            นอกจากนี้อาจารย์ยังได้กล่าวถึงแผนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยมียุทธศาสตร์ชาติ 2561-2580 ที่สำคัญในการขับเคลื่อนให้เกิดการสร้างองค์ความรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งในยุทธศาสตร์ที่ 1 ก็คือ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลประสิทธิภาพสูงให้ครอบคลุมทั่วประเทศ  โดยเป้าหมายหลักก็คือ การพัฒนาอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงของไทยให้มีคุณภาพและครอบคลุมทั่วทั้งประเทศ ยุทธศาสตร์ที่ 2 เป็นเรื่องของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล โดยการนำเอานวัตกรรมและความเชี่ยวชาญในการใช้เทคโนโลยีมาในภาคการผลิตและภาคอุตสาหกรรมของประเทศ ยุทธศาสตร์ที่ 3 คือ การสร้างสังคมคุณภาพด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล โดยมุ่งให้ประชาชนทุกกลุ่มโดยเฉพาะผู้ที่อยู่ห่างไกล สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลได้ โดยเน้นไปในเรื่องของการศึกษา การสาธารณสุข การบริการสาธารณะต่าง ๆ และในขณะเดียวกันก็ยังต้องให้ส่งเสริมให้ประชาชนมีทักษะการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอย่างสร้างสรรค์ ยุทธศาสตร์ที่ 4 เป็นเรื่องของการปรับเปลี่ยนภาครัฐไปสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล โดยสร้างโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลภาครัฐให้มีการจัดเก็บบริหารข้อมูลแบบบูรณาการ ไม่ซ้ำซ้อน และรองรับการเชื่อมโยงระหว่างหน่วยงานได้ เพื่อให้สามารถบริการประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ คล่องตัว และโปร่งใส  ยุทธศาสตร์ที่ 5 เป็นเรื่องของการพัฒนากำลังคนให้พร้อมเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล ซึ่งเรื่องนี้อาจารย์เน้นตั้งแต่แรกว่ามีความสำคัญยิ่ง เนื่องจากแม้ว่าเราจะมีเทคโนโลยีที่ทันสมัยเพียงใด แต่หากบุคลากรไม่มีทักษะในการใช้เทคโนโลยีนั้น ๆ ก็เปล่าประโยชน์ ดังนั้นในยุทธศาสตร์นี้จึงมีแผนงานในการพัฒนาทักษะดิจิทัลในทุกสาขาอาชีพ และยังมุ่งเน้นพัฒนาความเชี่ยวชาญดิจิทัลเฉพาะด้านอีกด้วย นอกจากนี้ยังมุ่งพัฒนาผู้บริหารเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อสร้างศักยภาพในการบริหารจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศที่ทันสมัยรองรับกับการเปลี่ยนแปลงที่ฉับไวในอนาคต ยุทธศาสตร์ที่ 6 เป็นเรื่องของการสร้างความเชื่อมั่นในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล โดยจะเน้นไปที่การปรับปรุงกฎหมายดิจิทัลให้ทันสมัย ครอบคลุม และรองรับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล มีการสร้างมาตรฐานข้อมูลที่เป็นสากลเพื่อรองรับการเชื่อมโยงและการทำธุรกรรมพร้อมทั้งสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชนในการทำธุรกรรมออนไลน์ในรูปแบบต่าง ๆ

            นอกจากที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ อาจารย์ยังย้ำในเรื่องของความฉลาดทางดิจิทัล ซึ่งได้แก่

  1. ทักษะในการรักษาอัตลักษณ์ที่ดีของตนเองในโลกออนไลน์และโลกความเป็นจริง
  2. ทักษะในการรักษาข้อมูลส่วนตัว
  3. ทักษะในการจัดสรรเวลาหน้าจอ
  4. ทักษะในการคิดวิเคราะห์ข้อมูล
  5. ทักษะในการับมือภัยคุมคามทางออนไลน์
  6. ทักษะในการบริหารจัดการข้อมูลที่ผู้ใช้ทิ้งไว้บนโลกออนไลน์
  7. ทักษะในการในการรักษาความปลอดภัยของตนเอง
  8. ทักษะในการใช้เทคโนโลยีอย่างมีจริยธรรม

            ซึ่งทักษะทั้ง 8 ทักษะนี้มีความสำคัญที่บุคลากรผู้ที่จะสร้างสรรค์สร้างองค์ความรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล จำเป็นต้องมี ซึ่งรวมไปถึงผู้ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลทั่ว ๆ ไปด้วย

            และสุดท้าย ก่อนที่จะจบการบรรยายนั้น อาจารย์ได้ทิ้งท้ายด้วยแนวคิดที่น่าสนใจไว้ว่า การที่เราจะก้าวเข้าสู่ ยุคดิจิทัลระบบเปิดอย่างมั่นคงยั่งยืน เราจำเป็นที่จะต้องมีวิธีการคิดใหม่ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ใหม่ และเกิดกระบวนการทำงานใหม่ ทำให้เกิดธุรกิจใหม่ และเกิดวิถีชีวิตใหม่ในยุค Thailand  4.0

      มะขามหวานสีทอง มีถิ่นกำเนิดที่ตำบลหล่มเก่า อำเภอหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์ มีลักษณะประจำพันธุ์ คือ ฝักกลม มีทั้งโค้งมากน้อยไปจนถึงเกือบตรง เนื้อสีน้ำตาลทอง รถชาติหวาน เปลือกหนา เนื้อหนา เมล็ดโต โดยมีมูลค่าการส่งออกราว 500 – 800 ล้านบาท

      ทั้งนี้ปัญหาที่มักพบโดยทั่วไป คือ โรคราจุดสีดำ มักเกิดช่วงฤดูฝน และโรคราแป้ง มักเกิดช่วงฤดูปลายฝนต้นหนาว สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ได้ทำการศึกษาและทดลองนำการประยุกต์ใช้ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์มาเพื่อช่วยยืดอายุการเก็บรักษาผลมะขามหวานพันธุ์สีทองหลังการเก็บเกี่ยว โดยมีวิธีการทดลอง ดังนี้

  • คัดเลือกมะขามหวานพันธุ์สีทอง
  • ชั่งน้ำหนักคัดแยก
  • ดูด SO2 ความเข้มข้น 5%,10%, 20%
  • ปิดฝาทิ้งไว้ตามเวลาที่กำหนด
  • ทำการไตเตรทหาปริมาณ SO2
  • เก็บรักษาในกล่องนาน 75 วัน

      จากการทดลองพบว่า มะขามหวานพันธุ์สีทองที่รมซัลเฟอร์ไดออกไซด์ที่ความเข้มข้น 10 เปอร์เซ็นต์ดีที่สุด โดยคุณภาพหลังการเก็บเกี่ยวมีสภาพความเสียหายน้อยที่สุด หลังจากทำการทดลองครบ 75 วัน และเมื่อเก็บรักษาต่ออีก 20 วันพบว่า ความชื้น รสชาติ กลิ่น สี เชื้อรา มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมน้อยที่สุดตั้งแต่วันแรกที่เก็บรักษา

 

      ลำไยเป็นผลไม้ที่นิยมปลูกมากทางภาคเหนือของประเทศไทย เช่น จังหวัดลำพูด จังหวัดเชียงใหม่ เป็นต้น โดยมีปริมาณการส่งออกลำไยสดในปี 2559 จำนวน 25,000 ตัน คิดเป็นมูลค่า 1,200 ล้านบาท โดยมีตลาดนำเข้าที่สำคัญได้แก่ ไต้หวัน, ฮ่องกง และ สิงคโปร์  เนื่องจากลำไยเป็นผลไม้ที่อายุการเก็บเกี่ยวสั้น เน่าเสียได้ง่ายในระหว่างการขนส่ง ทั้งนี้สัดส่วนการส่งออกอยู่ในรูปลำไยสด 59% ลำไยแห้ง 13% และลำไยกระป๋อง 28%   เพื่อแก้ปัญหาลดการเน่าเสียระหว่างการขนส่งของผลลำไยสด สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว,) ได้ทำการศึกษาและวิจัยเพื่อพัฒนากระบวนการที่จะนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อยืดอายุลำไยสด โดยการรมควันด้วยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) ซึ่งเป็นกระบวนการที่มีประสิทธิภาพสูงในการควบคุมโรคเน่าหลังการเก็บเกี่ยว โดยการรมควันในอัตราที่เหมาะสมจะสามารถป้องกันการเน่าเสียที่เกิดจากเชื้อรา ช่วยยับยั้งปฏิกิริยาการเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลของเปลือกได้ โดยลำไยที่ผ่านการรมควันจะมีสีเปลือกที่สวยงาม และอายุในการวางจำหน่ายนานยิ่งขึ้น

      วว. ได้ออกแบบพัฒนาห้องรมควันลำไย ดังนี้

  • พัฒนาระบบกำจัด SO2 ที่เหลือทิ้ง เพื่อแก้ปัญหาการปล่อย SO2 ออกสู่บรรยากาศ
  • พัฒนาระบบผลิต SO2 ที่สามารถควบคุมปริมาณความเข้มข้นของ SO2 ที่ใช้ในห้องรมควันอย่างมีประสิทธิภาพ
  • พัฒนาห้องรมควันลำไยแบบต่อเนื่อง ที่มีระบบลำเลียงลำไยเข้าห้องรมควันอย่างต่อเนื่องขณะที่ภายในห้องมี SO2 รออยู่ก่อนแล้ว และระยะเวลาที่ลำไยอยู่ภายในห้องรมควันคงที่ มีการควบคุมปริมาณ SO2 ค้างอยู่ในเปลือกและเนื้อลำไยไม่เกินตามที่กำหนด ก่อนออกจากห้องรมควันจะมีระบบดูดอากาศ ทำการดูด SO2 จากภายในตะกร้าที่บรรจุลำไยไปบำบัด ส่วน SO2 ที่อยู่ภายในห้องจะถูกนำไปใช้รมควันลำไยชุดใหม่ที่เคลื่อนที่เข้ามาแทนชุดเก่าที่ออกไปแล้ว ทั้งนี้ถ้าความเข้มข้น SO2 ภายในห้องทดลองลดลง จะมีระบบทำการผลิต SO2 เข้ามาทดแทน เพื่อให้มีความเข้มข้นตามที่ต้องการ

      ทั้งนี้ระบบห้องรมควันแบบต่อเนื่องนี้ จะสามารถควบคุมปริมาณ SO2 ที่ตกค้างที่เปลือกและเนื้อลำไยได้อย่างมีประสิทธิภาพและยังช่วยลดปริมาณ SO2 ที่ต้องระบายออกสู่บรรยากาศภายนอกอีกด้วย

การสกัดสารสำคัญจากพืชทำได้หลายวิธีขึ้นอยู่กับชนิดของสารสกัด  คุณสมบัติของสารในการทนต่อความร้อน  ชนิดของตัวทำละลายที่ใช้  ซึ่งแต่ละวิธีมีข้อดีและข้อจำกัด  วิธีเหล่านี้ได้แก่

  1. การหมัก (Maceration) เป็นวิธีการสกัดสารสำคัญจากพืชโดยวิธีหมักสมุนไพรกับตัวทำละลายในภาชนะปิด เช่น  ขวดปากกว้าง  ขวดรูปชมพู่ หรือโถถังเสตนเลส  เป็นต้น  ทิ้งไว้  7  วัน  หมั่นเขย่าหรือคนบ่อยๆ  เมื่อครบกำหนดเวลาจึงค่อยๆ รินเอาสารสกัดออก  พยายามบีบเอาสารละลายออกจากกาก (marc)  ให้มากที่สุด รวมสารสกัดที่ได้นำไปกรอง  การสกัดถ้าจะสกัดให้หมดจด  (exhausted) อาจจำเป็นต้องสกัดซ้ำหลาย ๆ ครั้ง วิธีนี้มีข้อดีที่สารไม่ถูกความร้อน  แต่เป็นวิธีที่สิ้นเปลืองตัวทำละลายมาก
  2. การไหลซึม (Percolation) เป็นวิธีการสกัดสารที่สำคัญแบบต่อเนื่องโดยใช้เครื่องมือที่เรียกว่า percolation  นำผงสมุนไพรมาหมักกับสารละลายพอชื้นทิ้งไว้  1  ชม.  เพื่อให้พองตัวเต็มที่แล้วค่อยๆ บรรจุทีละน้อยเป็นชั้นๆ ลงใน  percolator เติมตัวทำละลายลงไปในระดับตัวทำละลายสูงเหนือสมุนไพร (solvent  head) ประมาณ 0.5 ซม. ทิ้งไว้  24  ชม.  จึงเริ่มไขเอาสารสกัดออก  โดยค่อยเติมตัวทำละลายเหนือสมุนไพรอย่าให้แห้ง  เก็บสารสกัดจนสารสกัดสมบูรณ์บีบกากเอาสารสกัดออกให้หมด  นำสารสกัดที่เก็บได้ทั้งหมดรวมกันนำไปกรอง
  3. การสกัดด้วย Soxhlet  extractor  เป็นวิธีการสกัดแบบต่อเนื่อง  โดยใช้ตัวทำละลายซึ่งมีจุดเดือดต่ำ  การสกัดทำได้โดยใช้ความร้อนทำให้ตัวทำละลายใน  flask  ระเหยไป  แล้วกลั่นตัวลงใน  thimble  ซึ่งบรรจุสมุนไพรไว้   เมื่อตัวทำละลายใน   extracting  chamber  สูงถึงระดับ  สารสกัดจะไหลกลับลงไปใน  flask  ด้วยวิธีการ  กาลักน้ำ  flask  นี้ได้รับความร้อนจาก  heating  mantle  หรือหม้ออังไอน้ำ   ตัวทำละลายจึงระเหยไป   ทิ้งสารสกัดไว้ใน  flask  ตัวทำละลายเมื่อกระทบ  condenser  จะกลั่นตัวกลับลงมาสกัดใหม่วนเวียนเช่นนี้จนกระทั่งการสกัดสมบูรณ์  การสกัดด้วยวิธีนี้ใช้ความร้อนด้วย  จึงอาจทำให้สารเคมีบางชนิดสลายตัว
  4. Liquid-liquid Extraction  เป็นการสกัดสารจากสารละลายซึ่งเป็นของเหลวลงในตัวทำละลายอีกตัวหนึ่ง  ซึ่งไม่ผสมกับตัวทำละลายชนิดแรก  แบ่งเป็น  2  ชนิดคือ Extractant  lighter  เป็น  liquid-liquid extractor  ซึ่งตัวทำละลายที่ใช้สกัดเบากว่าตัวทำละลายที่ใช้ละลายสาร Reffinate  lighter  เป็น  liquid-liquid  extractor  ซึ่งตัวทำละลายที่ใช้สกัดหนักกว่าตัวทำละลายที่ใช้ละลายสาร
  5. Supercritical  fluid  extraction  ที่จุดซึ่งอุณหภูมิและความดันเหมาะสม  สารที่อยู่ในภาชนะจะไม่กลั่นตัว  (condense)  หรือไม่ระเหย  แต่อยู่ในลักษณะเป็นของเหลว  เรียกสภาวะนี้ว่า  critical  state  เช่น  carbondioxide มี critical state    ที่ 1oC และ 72.9 atm/7.39 MPa ในทางปฏิบัติถ้าสารอยู่เหนือ  critical  temperature  และ  pressure  สารจะอยู่ในสภาวะที่มีคุณสมบัติระหว่างของเหลว และก๊าซ  จึงทำให้สามารถกระจายตัวได้ดี เช่น ก๊าซ และละลายสารได้ดี เช่น ของเหลวจึงทำให้สามารถสกัดสารออกจากพืชได้ดีกว่าปกติ  ก๊าซที่ใช้ในการสกัดสารจากพืชที่ นิยมกัน คือ CO2  ซึ่งเมื่อสกัดสารเรียบร้อยแล้ว  การเปลี่ยนสภาวะอุณหภูมิ และแรงดัน จะทำให้  CO2  เปลี่ยนเป็นก๊าซ  ทิ้งสารสกัดไว้  ข้อดี คือ ทำให้ลดมลภาวะจากตัวทำละลายอินทรีย์  และลดอันตรายที่เกิดจากตัวทำละลายอินทรีย์ต่อสุขภาพ   เช่น   คลอโรฟอร์ม  แต่จะมีข้อจำกัดคือเหมาะสำหรับสารไม่มีขั้ว   การจะเพิ่มความมีขั้วขึ้น  ทำได้โดยเติมเมธานอลลงไปผสมด้วย   นอกจากนี้แล้ว  CO2  ที่บริสุทธิ์ในบ้านเรายังมีราคาแพง   และการสกัดสารสกัดเบื้องต้น  มักมี resin ซึ่งอาจจะตกตะกอน และอุดตันที่ช่องที่สารสกัดจะไหลออกมา   แม้จะมีการแก้ปัญญาโดยใช้ความร้อนช่วยก็ตาม ในทางอุตสาหกรรมจึงจำเป็นต้องออกแบบให้เหมาะสมกับการสกัดสารแต่ละชนิด

อีกหนึ่งทางเลือกสำหรับการประหยัดค่าใช้จ่าย และสุขภาพดีไปในตัว สวยด้วย ประหยัดด้วย มาดูกันค่ะ เพียงคลิกที่ ชื่อสูตรตำรับผลิตภัณฑ์น้ำมันหอมระเหย ก็จะเห็น Clip สื่อความรู้น่ารักๆ

 

ดร.ปฐมสุดา อินทุประภา

กองพัฒนาและจัดการความรู้องค์กร

ขอบคุณภาพประกอบจากhttps://intothegloss.com/2015/12/microbeads-in-beauty-products/

ไมโครบีดส์ (Microbeads) หรือเม็ดพลาสติกขนาดเล็ก ซึ่งผสมอยู่ในผลิตภัณฑ์ ทำความสะอาดต่างๆ เช่น ครีมอาบน้ำ เจลหรือโฟลล้างหน้า ยาสีฟัน โดยอ้างว่าใช้เพิ่มประสิทธิภาพในการทำความสะอาดนั้น เป็นภัยเงียบต่อสิ่งแวดล้อมมาช้านาน เนื่องจากพวกมันมีขนาดเล็กกว่า 5 มิลิเมตร หรือแทบจะเล็กกว่าเม็ดทรายเสียอีก ดังนั้นพวกมันจึงถูกชะล้างลงไปตามท่อระบายน้ำและสามารถเล็ดลอดจากการระบบบำบัดน้ำเสียลงไปสู่แหล่งน้ำตามธรรมชาติเช่น แม่น้ำ ลำคลอง หรือแม้แต่ท้องทะเลได้อย่างไม่ยากนัก

เมื่อเจ้าไมโครบีดส์จำนวนมหาศาลหลุดรอดไปยังแหล่งน้ำตามธรรมชาติแล้ว ก็จะเข้าไปอยู่ในห่วงโซ่อาหาร โดยพวกมันจะถูกกินเข้าไปโดยสัตว์น้ำต่างๆ เนื่องจากถูกเข้าใจผิดว่าเป็นอาหาร  และสัตว์น้ำก็อาจถูกกินโดยสัตว์อื่นๆ เช่น นก ซึ่งนั่นก็ทำให้ไมโครบีดส์ต่างๆ เหล่านี้ถูกสะสมอยู่ในตัวสัตว์ต่างๆ และเมื่อเรารับประทานสัตว์น้ำที่กินไปไมโครบีดส์เข้าไป เจ้าไมโครบีดส์ก็จะย้อนกลับเข้ามาสะสมในร่างกลายของเราในที่สุด และสิ่ง  ที่น่ากลัวกว่านั้นก็คือ ระหว่างทางที่เจ้าไมโครบีดส์ เดินทางผ่านท่อระบายน้ำลงสู่แหล่ง น้ำ ตัวมันจะดูดซับสิ่งสกปรกและเชื้อโรคหลากหลายชนิดเอาไว้ ซึ่งทำให้มันสกปรกและมีเชื้อโรคมากกว่าในแหล่งน้ำรอบตัวมันเสียอีก ซึ่งเมื่อร่างกายของเรามีปริมาณไมโครบีดส์ที่เป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรคมากขึ้น ก็จะทำให้เราเจ็บป่วยในที่สุด

นอกจากนี้งานวิจัยจากโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ ระบุว่า ไมโครบีดส์นั้น ไม่มีประสิทธิภาพในการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำความสะอาดเลย และการหลุดรอดของเม็ดไมโครบีดส์สู่แหล่งน้ำในรัฐนิวยอร์กเพียงรัฐเดียว คิดเป็นน้ำหนักประมาณ 19 ตันต่อปี และเมื่อไมโครบีดส์อยู่ในแหล่งน้ำ มันจะดูดซึมสารเคมีเป็นพิษต่าง ๆ โดยเฉพาะพอลิคลอริเนตไบฟีนิล (PCBs) ซึ่งเป็นกลุ่มสารเคมีอินทรีย์ที่มีคลอรีนเป็นองค์ประกอบ สารเคมีเหล่านี้จะส่งผลต่อร่างกายโดยไปขัดขวางการทำงานของต่อมไร้ท่อและเป็นสารก่อมะเร็ง  เห็นไหมว่า ไมโครบีดส์นี้นับได้ว่า เป็นภัยเงียบอย่างแท้จริง ซึ่งหลายประเทศได้มีการยกเลิกการใช้ไมโครบีดส์เหล่านี้ในผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดต่างๆ แล้ว  สำหรับในประเทศไทย แม้ว่าจะยังไม่มีการยกเลิกการใช้ไมโครบีดส์อย่างจริงจัง แต่เราในฐานะผู้ซื้อก็ต้องคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมตามแนวทางศาสตร์พระราชา โดยเลือกซื้อผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติที่ไม่เป็นอันตรายกับสัตว์และสิ่งแวดล้อมรอบตัว

อ้างอิงจาก https://intothegloss.com/2015/12/microbeads-in-beauty-products/

📌ติดตามเรื่องสาระความรู้เกี่ยวกับบรรจุภัณฑ์📦ที่เหมาะสมกับอาหารประเภทต่างๆ 🥡🍯🍿🍦🍫🍟ได้ที่นี่👇👇👇ค่ะ

📌การผลิตอาหาร🥙🥗🥩ที่ดีตามหลัก GMP ต้องทำอย่างไรติดตามได้จาก Clip👇👇นี้ค่ะ