Category: นานาสาระ
เรื่องสาระความรู้ทั่วไปที่มีประโยชน์ ข่าวสาร
การประยุกต์ใช้ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์กับมะขามหวานสีทอง
มะขามหวานสีทอง มีถิ่นกำเนิดที่ตำบลหล่มเก่า อำเภอหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์ มีลักษณะประจำพันธุ์ คือ ฝักกลม มีทั้งโค้งมากน้อยไปจนถึงเกือบตรง เนื้อสีน้ำตาลทอง รถชาติหวาน เปลือกหนา เนื้อหนา เมล็ดโต โดยมีมูลค่าการส่งออกราว 500 – 800 ล้านบาท
ทั้งนี้ปัญหาที่มักพบโดยทั่วไป คือ โรคราจุดสีดำ มักเกิดช่วงฤดูฝน และโรคราแป้ง มักเกิดช่วงฤดูปลายฝนต้นหนาว สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ได้ทำการศึกษาและทดลองนำการประยุกต์ใช้ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์มาเพื่อช่วยยืดอายุการเก็บรักษาผลมะขามหวานพันธุ์สีทองหลังการเก็บเกี่ยว โดยมีวิธีการทดลอง ดังนี้
- คัดเลือกมะขามหวานพันธุ์สีทอง
- ชั่งน้ำหนักคัดแยก
- ดูด SO2 ความเข้มข้น 5%,10%, 20%
- ปิดฝาทิ้งไว้ตามเวลาที่กำหนด
- ทำการไตเตรทหาปริมาณ SO2
- เก็บรักษาในกล่องนาน 75 วัน
จากการทดลองพบว่า มะขามหวานพันธุ์สีทองที่รมซัลเฟอร์ไดออกไซด์ที่ความเข้มข้น 10 เปอร์เซ็นต์ดีที่สุด โดยคุณภาพหลังการเก็บเกี่ยวมีสภาพความเสียหายน้อยที่สุด หลังจากทำการทดลองครบ 75 วัน และเมื่อเก็บรักษาต่ออีก 20 วันพบว่า ความชื้น รสชาติ กลิ่น สี เชื้อรา มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมน้อยที่สุดตั้งแต่วันแรกที่เก็บรักษา
IoT กับสมาร์ทฟาร์ม
ดร. ปฐมสุดา อินทุประภา
กองพัฒนาและจัดการความรู้องค์กร
แนวคิด Internet of things (IoT) ถูกคิดขึ้นโดย Kevin Ashton ในปี 1999 จากโครงการ Auto-ID Center ที่มหาวิทยาลัย Massachusetts Institute of Technology หรือ MIT จากเทคโนโลยี RFID ที่จะทำให้เป็นมาตรฐานระดับโลกสำหรับ RFID Sensors ต่างๆ ที่จะเชื่อมต่อกันผ่านทางระบบอินเทอร์เน็ต ซึ่งการเชื่อมต่อเหล่านั้นเอง กลายมาเป็นแนวคิดของการทำให้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ สื่อสารกันได้โดยอาศัยตัว Sensor ในการสื่อสารถึงกัน
ในปัจจุบัน IoT ถูกนำไปประยุกต์ใช้กับหลายสิ่งหลายอย่างทั่วโลก ไม่เว้นแม้แต่ภาคเกษตรกรรม เพื่อวัตถุประสงค์ในการบริหารจัดการฟาร์มอย่างมีประสิทธิภาพโดย ใช้แรงงานคนให้น้อยที่สุด ซึ่งนี่จึงเป็นที่มาของคำว่า เกษตรอัจริยะ หรือสมาร์ทฟาร์ม (Smart Farm) ซึ่งได้นำเทคโนโลยี RFID Sensors เข้ามาใช้ในการเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ทางการเกษตรต่างๆ เพื่อให้อุปกรณ์เหล่านั้น สามารถสื่อสารกับอุปกรณ์ควบคุมหลักได้ เช่น การใช้เซ็นเซอร์วัดข้อมูลต่างๆ อย่าง เซ็นเซอร์ตรวจอากาศ (Weather Station) เซ็นเซอร์วัดดิน (Soil Sensor) เซ็นเซอร์ตรวจโรคพืช (Plant Disease Sensor) เซ็นเซอร์ตรวจวัดผลผลิต (Yield Monitoring Sensor) เป็นต้น เซ็นเซอร์เหล่านี้สามารถนํามาวางเป็นระบบเครือข่ายไร้สาย (Wireless Sensor Network) โดยนําไปติดตั้งหรือปล่อยในพื้นที่ไร่นา เพื่อเก็บข้อมูลต่างๆ ได้แก่ ความชื้นในดิน อุณหภูมิ ปริมาณแสง และสารเคมี เพื่อที่จะทราบว่าควรมีการให้ปุ๋ย น้ำ ยาฆ่าแมลง เมื่อใด และเท่าใดตามสภาพความแตก ต่างของพื้นที่ ซึ่งการให้ปุ๋ย น้ำ และยาฆ่าแมลงก็จะใช้เทคโนโลยีการให้ปุ๋ย/น้ำ/ยาฆ่าแมลง หรือที่เรียกว่า Variable Rate Technology (VRT) โดยเทคโนโลยีนี้จะใช้ระบบเซ้นเซอร์ในการวิเคราะห์ข้อมูลว่าแปลงใดควรจะมีการให้ปุ๋ย น้ำ และย่าฆ่าแมลงเท่าใดในช่วงเวลาใด ซึ่งเทคโนโลยีจะใช้ร่วมกับเทคโนโลยี Global Positioning System (GPS) นั่นเอง
ไมโครพลาสติก….ภัยมืดในทะเล
ชาญชัย คหาปนะ
ห้องปฏิบัติการทดสอบการสลายตัวทางชีวภาพของวัสดุ
ศูนย์พัฒนาและวิเคราะห์สมบัติของวัสดุ
บรรจุภัณฑ์พลาสติกหรืออุปกรณ์พลาสติกจัดเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญในการดำเนินชีวิตประจำวันตั้งแต่ตื่นจนถึงเข้านอน การผลิตพลาสติกจากทั่วโลกมีอัตราเติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.6 ต่อปีอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2493 ที่อัตราการผลิต 1.5 ล้านตันต่อปี เพิ่มเป็นมากกว่า 330 ล้านตันต่อปี ทำให้ในปัจจุบันมีพลาสติกที่ถูกผลิตขึ้นเป็นจำนวนถึง 9 พันล้านเมตริกตัน ซึ่งขณะนี้กำลังเป็นผลกระทบระยะยาวในระบบนิเวศน์ทั้งทางบกและทะเล
ในแต่ละปีขยะพลาสติกจากทั่วโลกมากกว่า 8 ล้านตันที่ถูกทิ้งลงมหาสมุทร มีเพียงร้อยละ 5 ที่เห็นเป็นชิ้นส่วนลอยในทะเล ส่วนที่เหลือนั้นจมอยู่ใต้มหาสมุทร ประเทศไทยติดอันดับ 6 ของโลกที่มีขยะพลาสติกมากที่สุดในทะเล จากที่ทราบกันดีว่าพลาสติกเป็นวัสดุที่ย่อยสลายได้ยาก มีความคงสภาพสูง จึงส่งผลให้ขยะพลาสติกที่ตกค้างในทะเลใช้เวลาในการย่อยสลายอยู่ในช่วง 10 – 600 ปี ขึ้นอยู่กับประเภทของพลาสติก
ไมโครพลาสติก หมายถึง พลาสติกที่มีขนาดเล็กกว่า 5 มิลลิเมตร ซึ่งมาจากกระบวนการผลิตเม็ดพลาสติกขนาดเล็กโดยตรง เช่น เป็นองค์ประกอบในเครื่องสำอางที่เป็นเม็ดสครับ (microbeads) ใยเสื้อผ้า หรือในการผลิตอุตสาหกรรมพลาสติก ไมโครพลาสติกเหล่านี้สามารถแพร่กระจายสู่สิ่งแวดล้อมทางทะเลได้โดยการทิ้งของเสียโดยตรงจากบ้านเรือนสู่แหล่งน้ำและไหลสู่ทะเล เช่น กรณีของสครับที่ใช้ในโฟมล้างหน้า หรือเส้นใยจากผ้าใยสังเคราะห์จากการทิ้งน้ำซักผ้า เป็นต้น ส่วนอีกรูปแบบหนึ่ง มาจากพลาสติกที่ใช้อยู่ทั่วไป เกิดการฉีกขาดจากปัจจัยต่างๆ เช่น แสง ความชื้น พลังงานจากคลื่น หรือสิ่งมีชีวิตในทะเล จนเป็นเศษพลาสติกขนาดเล็กและตกค้างสะสมในสิ่งแวดล้อม ด้วยเหตุที่ไมโครพลาสติกมีขนาดเล็กมาก ยากต่อการเก็บและการกำจัด ประกอบกับมีคุณสมบัติที่คงสภาพย่อยสลายได้ยาก จึงง่ายที่จะปนเปื้อน แพร่กระจาย สะสม และตกค้างในสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ การทิ้งขยะพลาสติกขนาดใหญ่ เมื่อเวลาผ่านไปก็สามารถเกิดการย่อยสลาย มีการแตกหักเป็นอนุพันธ์ของไมโครพลาสติก ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้เช่นเดียวกัน
ในปัจจุบัน โลกตื่นตัวกับปัญหาและภัยอันตรายจากการแพร่กระจายของไมโครพลาสติกในทะเล ที่อาจส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ ทั้งในกรณีเป็นตัวนำสารพิษเข้าสู่ห่วงโซ่อาหาร การเกิดผลกระทบต่อสุขภาพ และการดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิต เนื่องจากมีรายงานถึงผลการสำรวจขยะที่ถูกทิ้งลงในทะเลทั้งในมหาสมุทรลึกไปจนถึงแผ่นน้ำแข็งทวีปอาร์กติกที่ส่วนใหญ่เป็นขยะพลาสติก มีความเสี่ยงสูงมากที่สัตว์น้ำกว่า 700 สายพันธุ์ในทะเลจะกินขยะพลาสติกและไมโครพลาสติกเหล่านั้นเข้าไป ยิ่งไปกว่านี้ มีรายงานการตรวจพบสารก่อมะเร็งปนเปื้อนอยู่ในไมโครพลาสติก อาทิ สารกลุ่มพอลิไซคลิกอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอน (PAHs) พอลิคลอริเนตไบฟีนิล (PCBs) ดีดีที (DDT) และไดออกซิน เป็นต้น สำหรับประเทศไทย ปิติพงษ์และคณะ (2559) ตรวจพบไมโครพลาสติกในหอยเสียบและหอยกระปุก ในลักษณะที่เป็นเส้นใยมากที่สุด คาดว่ามาจากอุปกรณ์การทำประมง เช่น อวน ตาข่าย เอ็น และเชือก ดังนั้น การที่เรารับประทานสัตว์น้ำที่มีการปนเปื้อนของไมโครพลาสติกเข้าไปก็อาจมีโอกาสที่จะได้รับสารที่ปนเปื้อนเข้าไปได้ แม้ว่ายังไม่มีรายงานทางวิชาการที่ยืนยันถึงไมโครพลาสติกที่ตกค้างในสัตว์น้ำก่อให้เกิดผลกระทบที่เป็นอันตรายต่อมนุษย์โดยตรงจากการได้รับผ่านทางห่วงโซ่อาหาร แต่จากผลการศึกษาที่กล่าวข้างต้นแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าได้มีการปนเปื้อนของไมโครพลาสติกในสิ่งแวดล้อมทางทะเลและในสัตว์ทะเลของประเทศไทยแล้ว ดังนั้น ถึงเวลาที่เราต้องกำหนดมาตรการหรือตระหนักในการลดปัญหาเหล่านี้ อาทิ ลดปริมาณขยะทะเลจากแหล่งต่างๆ เช่น ชุมชนชายฝั่ง การประมง การท่องเที่ยว และกลุ่มวิสาหกิจเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เป็นต้น โดยมีการบังคับใช้กฎหมาย การส่งเสริมผู้ประกอบการในการผลิตวัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และที่สำคัญ คือ การรณรงค์สร้างจิตสำนึกและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้พลาสติกในชีวิตประจำวัน
ที่มา:
PlasticsEurope Market Research Group (PEMRG) / Consultic Marketing & Industrieberatung GmbH
IUCN (International Union for Conservation of Nature). Marine Plastics. 2018.
Laura Parker. 2015. ‘Eight Million Tons of Plastic Dumped in Ocean Every Year’ เข้าถึงได้จาก http://news.nationalgeographic. com/news/2015/02/150212-ocean-debris-plastic-garbage-patches-science/
Katsnelson, K. 2015. New feature: microplastics present pollution puzzle. Proc Natl Acad Sci 112 (18): 5547–5549. Published online 2015 May 5. doi: 10.1073/pnas.1504135112
Rochman CM, Hoh E, Hentschel BT, Kaye S. Long-term field measurement of sorption of organic contaminants to five types of plastic pellets: Implications for plastic marine debris. Environ Sci Technol. 2013;47(3):1646–1654.
http://ecowatch.com/2016/06/03/microplastics-kill-baby-fish/
ปิติพงษ์ ธาระมนต์ และคณะ. (2559).การปนเปื้อนของไมโครพลาสติกในหอยสองฝาบริเวณชายหาดเจ้าหลาวและชายหาดคุ้งวิมาน จังหวัดจันทบุรี.แก่นเกษตร 44 ฉบับพิเศษ 1.738-744.
การผลิตน้ำมะนาวพร้อมดื่ม
มะนาวเป็นพืชที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ เนื่องจากในน้ำมะนาวนั้นมีกรดซึ่งมีประโยชน์ต่อสุขภาพซึ่งได้แก่ กรดซิตทริค (Citric acid) กรดมาลิค (Malic acid) และแอสคอร์บิก (Ascorbic acid) นอกจากนี้ยังมีวิตามินซี และอุดมไปด้วยสารฟลาโวนอยด์ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของวิตามินซีอีกด้วย น้ำมะนาวจึงเป็นสิ่งที่ได้รับความนิยมในสังคมไทย ดังนั้นการผลิตน้ำมะนาวพร้อมดื่มที่ปิดสนิทจึงเป็นสิ่งที่ควรเรียนรู้ และควรมองการผลิตแบบเป็นองค์รวม เชื่อมโยงกัน ตามแนวทางของศาสตร์พระราชา โดยควรพิจารณาตั้งแต่การเลือกพันธุ์มะนาวที่ให้น้ำเยอะ เทคนิคการปลูกและดูแล ขั้นตอนการผลิต และขั้นตอนการฆ่าเชื้อ เพื่อความสดสะอาดและยืดอายุการเก็บรักษาให้ยาวนานขึ้น
สำหรับการผลิตน้ำมะนาวพร้อมดื่ม ขั้นแรกคือ การทำความสะอาดมะนาว จากนั้นผ่าผลมะนาว นำเมล็ดมะนาวออก บีบน้ำมะนาวลงใส่ในแก้ว เมื่อได้น้ำมะนาวในปริมาณที่ต้องการแล้ว จึงเติมน้ำตาลทรายประมาณ 3 ช้อนโต๊ะ และเทน้ำร้อนลงไปในปริมาณครึ่งถ้วยต่อน้ำมะนาว 1 แก้ว ใส่เกลือป่นครึ่งช้อนชา คนให้เข้ากัน และชิมรสตามชอบ แต่เพื่อให้ได้รสชาติที่กลมกล่อมตามสูตรของศูนย์เชี่ยวชาญอาหารสุขภาพของสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ควรควบคุมความหวานที่ 15.5 บริกซ์ ค่าความเป็นกรดร้อยละ 0.46-0.57 และค่าความเป็นเบส 3.2
เมื่อได้น้ำมะนาวที่ปรุงรสแล้ว จึง นำภาชนะบรรจุมาผ่านการฆ่าเชื้อด้วยวิธีWater Spray Retort หรือการฆ่าเชื้อแบบใช้น้ำร้อนสเปรย์ ซึ่งเครื่องนี้เป็นเครื่องที่ใช้งานในระดับโรงงานอุตสาหกรรม เครื่องนี้ มีหลักการทำงานโดยการฉีดพ่นน้ำร้อนผ่านหัวฉีดที่ติดตั้งในตำแหน่งและองศาที่เหมาะสม เพื่อให้การฉีดพ่นเป็นไปอย่างทั่วถึง ซึ่งเครื่องนี้จะเหมาะสำหรับภาชนะบรรจุที่เป็นขวดแก้ว ถุง pouch และบรรจุภัณฑ์ชนิดกึ่งอ่อนตัว
อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ผลิตน้ำมะนาวที่ไม่มีเครื่อง Water Spray Retort ก็สามารถทำการพาสเจอร์ไรส์ภาชนะบรรจุได้โดยการนึ่งที่อุณหภูมิ 95 องศาเซลเซียส ที่ความดัน -200 มิลลิเมตรปรอท กับที่ 75 องศาเซลเซียส โดยใช้เวลาในการฆ่าเชื้อที่อุณหภูมิดังกล่าว 27 วินาที โดยใช้เวลาในการฆ่าเชื้อที่อุณหภูมิดังกล่าว 27 วินาที ซึ่งจะทำให้ได้จะได้ผลิตภัณฑ์ปลอดจากจำนวนจุลินทรีย์ ยีสต์ และรา และปลอดภัยต่อผู้บริโภคนานถึง 6 เดือน
ทำไมเปลือกไข่จึงไล่มดได้
หลายคนคงเคยได้ยินเรื่องเปลือกไข่ไล่มดมาบ้าง แต่อาจสงสัยว่าเหตุใด เจ้ามดน้อยจึงไม่ชอบเปลือกไข่ จนต้องหนีห่าง นั่นก็เป็นเพราะเปลือกไข่มีส่วนประกอบคือ แคลเซียมคาร์บอเนต แมกนีเซียมคาร์บอเนต แคลเซียม ฟอสเฟต สารอินทรีย์อื่นๆ รวมทั้งยังมีกรดกำมะถันอีกด้วย ดังนั้นเมื่อนำไปผ่านการให้ความร้อนเช่น การตากแดด หรือเผาไฟ และจะทำให้แคลเซียมคาร์บอเนตเปลี่ยนไปเป็นแคลเซียมไฮดรอกด์ที่มีฤทธิ์เป็นเบส ทำให้สามารถไล่มดได้นั่นเอง นอกจากนี้กรดกำมะถันในเปลือกไข่เมื่อโดนความร้อนก็จะทำให้มีกำมะถันระเหยออกมาจึงสามารถไล่เพลี้ยไฟได้อีกด้วย
สำหรับวิธีการทำเปลือกไข่ไล่มดก็สามารถทำได้ง่ายๆ โดยวิธีแรก คือ นำเปลือกไข่ไปตากแดดหรือเผาไฟจนแห้ง และนำมาตำให้ละเอียด จากนั้นจึงเติมน้ำเปล่าลงไป ทิ้งไว้ 20-30 นาที และทำไปเทราลงในบริเวณที่มีมดหรือรังของมดโดยตรง วิธีที่สอง คือ นำเปลือกไข่ไปตากแดดหรือเผาไฟจนแห้ง และนำมาตำให้ละเอียด จากนั้นบดผงเปลือกไข่กับดินสอพอง ปูนปลาสเตอร์ และน้ำ ผสมให้เข้ากัน แล้วเติมน้ำส้มสายชูเล็กน้อย จากนั้นนำไปอัดใส่หลอดดูดน้ำที่มีขนาดใหญ่ และนำไปตากแดดจนแห้ง เมื่อแห้งแล้วจึงนำหลอดมาตัดหัวตัดท้าย เท่านี้ก็จะได้ชอล์กไล่มดเก็บไว้ใช้
การไล่มดโดยใช้เปลือกไข่นี้เป็นวิธีที่ประหยัด เพราะทำจากเศษวัสดุเหลือใช้ในครัวเรือน ซึ่งตรงตามแนวทางของศาสตร์พระราชาในเรื่องของการประหยัดนั่นเอง
หลักการผลิตน้ำพริกให้ได้มาตราฐาน
ดร.ปฐมสุดา อินทุประภา
น้ำพริกเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีการบริโภคสูงภายในประเทศ และยังเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีศักยภาพในการเป็นสินค้าส่งออกอีกด้วย ดังนั้นการผลิตน้ำพริกเพื่อจำน่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศ จึงควรต้องคำนึงถึงเรื่องความปลอดภัยต่อผู้บริโภคเป็นสำคัญ และจากการยึดแนวทางการทำงานตามศาสตร์พระราชาในเรื่องของการมีส่วนร่วมนั้น ทำให้ศูนย์เชี่ยวชาญอาหารสุขภาพของสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ได้เข้าไปรับฟังปัญหาการผลิตน้ำพริกเพื่อจำน่ายจากกลุ่มประกอบการ จนทราบถึงปัญหาของการผลิตนั้นเกี่ยวเนื่องกับด้านต่างๆ ได้แก่ ด้านวัตถุดิบ คือ วัตถุดิบมีคุณภาพไม่สม่ำเสมอ เนื่องจากผู้ขายเป็นรายย่อยหลายแหล่งจึงทำให้วัตถุดิบที่ได้มีคุณภาพต่างกัน หรือการตรวจพบสารตกค้างในวัตถุดิบ ด้านกระบวนการผลิต ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ในด้านกระบวน การผลิตที่ดี ไม่ทราบถึงมาตรฐานการผลิต หรือไม่ทราบถึงสาเหตุของการปนเปื้อน และส่วนใหญ่จะผลิตโดยใช้แรงงานคน เนื่องจากเครื่องจักรในการผลิตมีต้นทุนสูง รวมทั้งยังประสบปัญหาในด้านบรรจุภัณฑ์ เช่น บรรจุภัณฑ์มักเปลี่ยนสีเมื่อสัมผัสอากาศ การแตก หักเสียหายในระหว่างการขนส่ง รวมทั้งเกิดการมักเกิดการปนเปื้อนในระหว่าขนส่ง ด้านการรับรองคุณภาพ ผู้ประกอบการมักขาดความรู้ในเรื่องมาตรฐานคุณภาพ เช่น มผช., มอก., ISO ฯลฯ และค่าใช้จ่ายในด้านคุณภาพส่วนใหญ่มีราคาสูง จึงทำให้ผู้ประกอบการรายย่อยไม่สามารถรองรับค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ได้
จากปัญหาด้านต่างๆ ที่พบจึงทำให้สรุปได้ว่า ความปลอดภัยในการผลิตน้ำพริก สามารถแยกได้เป็นหัวข้อต่างๆ ดังนี้ คือ
- ความสะอาดของวัตถุดิบ ควรรับจากแหล่งผลิตที่ปฏิบัติตามมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี จากนั้นต้องมีการล้างทำความสะอาดอย่างถูกวิธี เพื่อขจัดสิ่งสกปรกและสารปนเปื้อนออก และมีการตัดแต่งหรือเล็มส่วนที่เสียหาย เน่า หรือขึ้นราออก สำหรับน้ำที่ใช้ล้างทำความสะอาดวัตถุดิบควรใช้เฉพาะน้ำที่บริโภคได้เท่านั้น เพื่อหลีกเลี่ยงการปนเปื้อนที่มีผลต่อความปลอดภัยของอาหาร
- ความสะอาดของเครื่องมือและสถานที่ในการผลิต เครื่องมือที่ใช้ในการผลิตควรมีความทนทานและสามารถเคลื่อนย้ายหรือถอดออกได้เอื้อต่อการซ่อมบำรุง การทำ ความสะอาด การฆ่าเชื้อ และการตรวจสอบ นอกจากนี้จะต้องมีการทำความสะอาดและบำรุงรักษาอย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันจุลินทรีย์ที่เป็นอันตราย ส่วนสถานที่การผลิต ควรทำจากวัสดุกันน้ำ ผนังและฝากั้น ควรมีผิวหน้าเรียบ สูงพอเหมาะต่อการปฏิบัติงาน พื้น มีความลาดเอียงเพียงพอต่อการระบายน้ำ และทำความสะอาด เพดานและอุปกรณ์ที่ยึดติดอยู่ด้านบน ควรอยู่ในสภาพที่ช่วยลดการเกาะของสิ่งสกปรก ฝุ่น จากกระบวนการผลิต หน้าต่างควรใช้วัสดุที่ทำความสะอาดได้ง่าย สามารถลดการเกาะของสิ่งสกปรก ควรติดมุ้งลวดที่ถอดออกและล้างทำาความสะอาดได้ง่าย เพื่อป้องกันสัตว์และแมลงเข้ามาในสถานที่ผลิต ส่วนพื้นผิวบริเวณที่ต้องสัมผัสกับวัตถุดิบหรือผลิตภัณฑ์โดยตรง ควรอยู่ในสภาพดี ทนทานและทำความสะอาดได้ง่าย มีการบำรุงรักษาและฆ่าเชื้ออย่างสม่ำเสมอ และต้องทำจากวัสดุที่เรียบ ไม่ดูดซับน้ำ และไม่ทำปฏิกิริยากับพริกหรือพริกป่น
- ความสะอาดของกระบวนการผลิต ส่วนใหญ่ผู้ประกอบการจะผลิตโดยใช้แรงงานคน เนื่องจากเครื่องจักรในการผลิตมีต้นทุนสูง ดังนั้นวัตถุดิบ ส่วนผสมและภาชนะบรรจุต่างๆ ต้องมีการควมคุมและจัดเก็บอย่างเหมาะสมในระหว่างการผลิต เพื่อไม่ให้เกิดการปนเปื้อนในระหว่างการผลิต และในระหว่างการผลิตต้องมั่นใจว่ามีสัตว์หรือแมลงเข้ามารบกวน นอกจากนี้จะต้องมีการใชัวัตถุปนเปื้อนต่างๆ ตามที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น
- ความสะอาดของผู้ผลิต ผู้ผลิตต้องมีการล้างทำความสะอาดร่างกายก่อนเข้าสู่กระบวนการผลิต ไม่ไว้เล็บยาวและควรสวมถุงมือที่ผ่านการฆ่าเชื้อในระหว่างการผลิต ต้องสวมหมวกเพื่อป้องกันเส้นผมร่วงไปปนเปื้อนกับผลิตภัณฑ์ เสื้อผ้าที่สวมใส่ต้องมีความสะอาดและกระชับ เพื่อความปลอดภัยในระหว่างการกระบวนการผลิต ล้างมือทุกครั้งก่อนปฏิบัติงาน หลังการใช้สุขา และเมื่อมือสกปรก
- ความสะอาดของภาชนะบรรจุ วัสดุที่ใช้ต้องผ่านการฆ่าเชื้อและอยู่ในสภาพ ดี ไม่ทำปฏิกิริยากับน้ำพริก และมีความเหมาะสม โดยสามารถเก็บรักษาอาหารภายใต้สภาพการเก็บรักษาสะอาดที่ระบุไว้ สามารถป้องกันผลิตภัณฑ์จากการปนเปื้อนและความชื้นได้ ไม่แตกหักเสียหายขณะขนส่ง มีการแสดงฉลากอย่างเหมาะสม
รู้ไหม มะพร้าวใช้ฆ่าลูกน้ำยุงได้อย่างไร?
มะพร้าวเป็นพืชยืนต้นในวงศ์ปาล์ม (ARECACEAE) มีชื่อสามัญว่า coconut มีชื่อเรียกทางวิทยาศาสตร์ว่า Cocos nucifera L. มะพร้าวนั้นนิยมปลูกอยู่แทบจะทั่วทุกพื้นที่ของประเทศไทย เพราะมันถือได้ว่าเป็นพืชสารพัดประโยชน์ เนื่องจากส่วนต่างๆ ของมันสามารถนำมาทำประโยชน์ได้หมด ไม่ว่าจะเป็นการนำผลและน้ำมาทำอาหารคาวหวาน หรือนำลำต้น กะลา ก้าน และใบ มาทำเป็นสิ่งประดิษฐ์หรือของใช้ต่างๆ แต่ ความสารพัดประโยชน์ของมะพร้าวยังหมดแค่นั้น เพราะน้ำมะพร้าวจากผลมะพร้าวแก่ ยังสามารถนำมาใช้เป็นอาหารเลี้ยงเชื้อแบคทีเรียบีทีไอ (Bacillus thuringiensis subsp. israelensis: BTI) ซึ่งเป็นศัตรูทางธรรมชาติของลูกน้ำยุงโดยเฉพาะ แต่ไม่เป็นพิษภัยต่อคนและสัตว์อื่นๆ
การทดลองนำน้ำมะพร้าวมาเพาะเลี้ยงเชื้อแบคทีเรียบีทีไอนี้ ถูกทดลองโดยนักวิทยาศาสตร์หญิงชาวเปรูชื่อ พาลมิลา เวนโตซิลลา (Palmira Ventosilla) เธอได้ทดลองนำวัตถุดิบพื้นเมืองต่างๆ ของเปรูมาทำการเพาะเลี้ยงเชื้อแบคทีเรียบีทีไอแบบง่ายๆ โดยได้ทดลองกับกล้วย สับปะรด ธัญพืชต่างๆ รวมถึงมะพร้าว และในที่สุดก็พบว่า มะพร้าวแก่สามารถใช้เพาะเลี้ยงเชื้อแบคทีเรียบีทีไอได้ดีที่สุด โดยเธอได้ทดลองนำเชื้อแบคทีเรียบีทีไอ 100 ตัว ฉีดเข้าไปในผลมะพร้าว ผลปรากฏว่าภายในระยะเวลาเพียงแค่ 3 วัน ปริมาณเชื้อแบคทีเรียบีทีไอได้เพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่าที่อุณหภูมิห้องปกติ เธอค้น พบว่า ในน้ำมะพร้าวมีสารอาหารที่ดีต่อการเจริญเติบโตของแบคทีเรียบีทีไอ และผลมะพร้าวเองก็ทำหน้าที่เสมือนถังบ่มเพาะเชื้อชั้นเลิศ จากการผลทดลองนี้ พาลิมาจึงได้ นำแบคทีเรียที่เพาะในผลมะพร้าวไปทดลองฆ่าลูกน้ำยุงในบ่อ ซึ่งมันก็ผลที่ได้น่าพอใจ อย่างยิ่ง เพราะเชื้อที่เพาะในผลมะพร้าวสามารถฆ่าลูกน้ำยุงได้หมดภายในครั้งเดียว อีกทั้งยังสามารถควบคุมการเกิดใหม่ของลูกน้ำยุงได้นานถึง 45 วันอีกด้วย จากผลการทดลองที่ประสบความสำเร็จดังกล่าว พาลมิลาจึงได้ทำการประดิษฐ์ชุดกำจัดลูกน้ำยุงพร้อมใช้จากผลมะพร้าวขึ้น ซึ่งวิธีใช้ก็ไม่ยาก เพียงแค่ผ่าผลมะพร้าวและโยนลงบ่อ 2-3 ลูก ก็สามารถควบคุมปริมาณยุงได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยไม่เป็นอันตรายต่อสัตว์อื่นๆ ในบ่อ
แม้นักวิทยาศาสตร์หญิงท่านนี้จะไม่ใช่คนไทย แต่การทดลองของเธอก็นับเป็นตัวอย่างที่ดีในการประยุกต์ใช้วัสดุของใช้จากธรรมชาติมาแก้ไขปัญหาแบบประหยัดไม่ยุ่งยาก และมีประสิทธิภาพ ซึ่งก็ตรงกับศาสตร์พระราชาในเรื่องของการทำให้ง่ายนั่นเอง
อ้างอิงจาก หนังสือเทคโนโลยีสำหรับชาวชนบท
“รู้หรือไม่ สัตว์เป็นดรรชนีบ่งชี้มลพิษได้นะ?”
ดร.ปฐมสุดา อินทุประภา
กองพัฒนาและจัดการความรู้องค์กร
ในปัจจุบันสภาพอากาศเสีย น้ำเสีย และดินปนเปื้อนด้วยมลพิษกำลังคุมคามผู้คนในเมืองใหญ่ๆ หลายแห่งทั่วโลก แม้เทคโนโลยีในการบ่งชี้มลพิษที่คอยเตือนให้มนุษย์เราระวังอันตรายจากมลพิษต่างๆ จะก้าวหน้าขึ้น แต่เราก็ไม่ควรที่จะละเลยสิ่งเตือนภัยทางธรรมชาติจากมลพิษที่มีมาช้านานอย่างเจ้าสัตว์ตัวจ้อยต่างๆ เพราะเจ้าสัตว์จ้อยเหล่านี้ คือ ดรรชนีทางชีวภาพ (bio-indicators หรือ bio-monitors) ที่แท้จริง เพราะมันมีข้อ ดีที่จะใช้เป็นตัวดรรชนีบ่งบอกระดับมลพิษในสิ่งแวดล้อมหลายประการ เนื่องจากพวก มันได้รับมลพิษเข้าสู่ร่างกายได้ตลอดเวลาและมันยังไวต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม ในขณะที่การวิเคราะห์ทางเคมีนั้น ต้องทำโดยการเก็บตัวอย่างที่ถูกเวลาและสถานที่เท่านั้น จึงจะสามารถวิเคราะห์มลพิษได้ แต่สำหรับพวกสัตว์ทั้งหลาย เมื่อได้รับมลพิษในระดับที่เป็นอันตราย พวกมันจะแสดงพฤติกรรมหรืออาการที่เกิดจากมลพิษให้เห็นภายนอกลำตัวได้ง่าย อีกทั้งการประเมินการสะสมของมลพิษในสิ่งแวดล้อมโดยผ่านทางห่วงโซ่อาหารของพวกมันก็ยังสามารถทำได้เช่นกัน นอกจากนี้ปริมาณมลพิษที่สะสมอยู่เนื้อเยื่อของพวกมันจะมีปริมาณสูงเพียงพอที่จะตรวจได้นาน แม้ว่าบางครั้งมลพิษในสภาพแวดล้อมจะสูญหายไปแล้ว
สำหรับตัวอย่างของสัตว์ที่เคยมีการทดลองใช้และพบว่าได้ผลดีในการตรวจหาปริมาณสารพิษที่ปนเปื้อนอยู่ในสิ่งแวดล้อม ก็ได้แก่
- แมลงน้ำ ปลา และลูกอ๊อด ถูกใช้วิเคราะห์หาจุดกำเนิดของมลพิษในลำน้ำและหาโลหะหนักบางชนิดที่ถูกปล่อยลงในแหล่งน้ำ เช่น ตะกั่ว โมลิบดีนัม
- ไส้เดือน ใช้บ่งชี้มลพิษปนเปื้อนในดิน โดยมันจะแสดงอาการผิดปกติให้เห็น ชัดบนผิวหนัง
- ผึ้ง จะถูกใช้ในการหามลพิษและสารกัมมันตภาพรังสีที่ปนเปื้อนอยู่ในอากาศ น้ำ อาหาร และบนพืช เพราะมันมีขนละเอียดบนลำตัวที่มีคุณสมบัติเป็นไฟฟ้าสถิต ทำให้ดึงดูดฝุ่นละอองและมลพิษให้ติดอยู่บนลำตัวได้ดี ทั้งยังสะดวกในการเก็บตัวอย่างวิเคราะห์ได้ทีละเป็นจำนวนมาก
- หอย ถูกใช้ในการวิเคราะห์หาธาตุรอง (trace element) เช่น แคดเมียม โครเมียม และทองแดง รวมทั้งยากำจัดศัตรูพืชต่างๆ และปริมาณแบคทีเรียในน้ำ โดยเฉพาะหอยสองฝาที่อยู่กับที่บนพื้นน้ำและกินอาหารโดยการกรองผ่านเหงือก
- ปลา ถูกใช้ในการวิเคราะห์ความเข้มข้นของมลพิษในแหล่งน้ำ โดยสังเกตจากการผิดปกติบนผิวลำตัว หรือจากพฤติกรรมในการดำรงชีวิต หรือวิเคราะห์จากเนื้อเยื่อของมันโดยตรง
- นกและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็ก ถูกใช้ตรวจสอบปริมาณมลพิษในสิ่งแวดล้อม โดยการตรวจเลือด มูลและอวัยวะภายใน เช่น ตับ หัวใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนกและสัตว์ที่กินแมลงเป็นอาหาร ซึ่งมีอัตราการเผาผลาญในร่างกายสูง จึงกินอาหารจุกว่าสัตว์ขนาดใหญ่กว่ามาก
นอกจากสัตว์แล้วพืชหลายก็ชนิดสามารถใช้เป็นดรรชนีบ่งชี้ปริมาณและชนิดของมลพิษในสิ่งแวดล้อมได้ดีเช่นเดียวกัน เช่น ไลเคนส์ ใช้วัดปริมาณมลพิษในอากาศ และนี่ก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของการศึกษาธรรมชาติเพื่อช่วยในการปกป้องธรรมชาติด้วยกัน
อ้างอิงจาก https://www.eisn-institute.de/fields-of-teaching-research-and-management/bioindicators-biomonitors/
ไมโครบีดส์ภัยเงียบต่อสิ่งแวดล้อม
ดร.ปฐมสุดา อินทุประภา
กองพัฒนาและจัดการความรู้องค์กร
ไมโครบีดส์ (Microbeads) หรือเม็ดพลาสติกขนาดเล็ก ซึ่งผสมอยู่ในผลิตภัณฑ์ ทำความสะอาดต่างๆ เช่น ครีมอาบน้ำ เจลหรือโฟลล้างหน้า ยาสีฟัน โดยอ้างว่าใช้เพิ่มประสิทธิภาพในการทำความสะอาดนั้น เป็นภัยเงียบต่อสิ่งแวดล้อมมาช้านาน เนื่องจากพวกมันมีขนาดเล็กกว่า 5 มิลิเมตร หรือแทบจะเล็กกว่าเม็ดทรายเสียอีก ดังนั้นพวกมันจึงถูกชะล้างลงไปตามท่อระบายน้ำและสามารถเล็ดลอดจากการระบบบำบัดน้ำเสียลงไปสู่แหล่งน้ำตามธรรมชาติเช่น แม่น้ำ ลำคลอง หรือแม้แต่ท้องทะเลได้อย่างไม่ยากนัก
เมื่อเจ้าไมโครบีดส์จำนวนมหาศาลหลุดรอดไปยังแหล่งน้ำตามธรรมชาติแล้ว ก็จะเข้าไปอยู่ในห่วงโซ่อาหาร โดยพวกมันจะถูกกินเข้าไปโดยสัตว์น้ำต่างๆ เนื่องจากถูกเข้าใจผิดว่าเป็นอาหาร และสัตว์น้ำก็อาจถูกกินโดยสัตว์อื่นๆ เช่น นก ซึ่งนั่นก็ทำให้ไมโครบีดส์ต่างๆ เหล่านี้ถูกสะสมอยู่ในตัวสัตว์ต่างๆ และเมื่อเรารับประทานสัตว์น้ำที่กินไปไมโครบีดส์เข้าไป เจ้าไมโครบีดส์ก็จะย้อนกลับเข้ามาสะสมในร่างกลายของเราในที่สุด และสิ่ง ที่น่ากลัวกว่านั้นก็คือ ระหว่างทางที่เจ้าไมโครบีดส์ เดินทางผ่านท่อระบายน้ำลงสู่แหล่ง น้ำ ตัวมันจะดูดซับสิ่งสกปรกและเชื้อโรคหลากหลายชนิดเอาไว้ ซึ่งทำให้มันสกปรกและมีเชื้อโรคมากกว่าในแหล่งน้ำรอบตัวมันเสียอีก ซึ่งเมื่อร่างกายของเรามีปริมาณไมโครบีดส์ที่เป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรคมากขึ้น ก็จะทำให้เราเจ็บป่วยในที่สุด
นอกจากนี้งานวิจัยจากโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ ระบุว่า ไมโครบีดส์นั้น ไม่มีประสิทธิภาพในการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำความสะอาดเลย และการหลุดรอดของเม็ดไมโครบีดส์สู่แหล่งน้ำในรัฐนิวยอร์กเพียงรัฐเดียว คิดเป็นน้ำหนักประมาณ 19 ตันต่อปี และเมื่อไมโครบีดส์อยู่ในแหล่งน้ำ มันจะดูดซึมสารเคมีเป็นพิษต่าง ๆ โดยเฉพาะพอลิคลอริเนตไบฟีนิล (PCBs) ซึ่งเป็นกลุ่มสารเคมีอินทรีย์ที่มีคลอรีนเป็นองค์ประกอบ สารเคมีเหล่านี้จะส่งผลต่อร่างกายโดยไปขัดขวางการทำงานของต่อมไร้ท่อและเป็นสารก่อมะเร็ง เห็นไหมว่า ไมโครบีดส์นี้นับได้ว่า เป็นภัยเงียบอย่างแท้จริง ซึ่งหลายประเทศได้มีการยกเลิกการใช้ไมโครบีดส์เหล่านี้ในผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดต่างๆ แล้ว สำหรับในประเทศไทย แม้ว่าจะยังไม่มีการยกเลิกการใช้ไมโครบีดส์อย่างจริงจัง แต่เราในฐานะผู้ซื้อก็ต้องคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมตามแนวทางศาสตร์พระราชา โดยเลือกซื้อผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติที่ไม่เป็นอันตรายกับสัตว์และสิ่งแวดล้อมรอบตัว
อ้างอิงจาก https://intothegloss.com/2015/12/microbeads-in-beauty-products/