ลองกองเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของไทย และเป็นพืชหนึ่งที่เกษตรกรให้ความสนใจและนิยมปลูกกันมากแหล่งปลูกที่สำคัญของไทยคือ ภาคใต้ ได้แก่ นราธิวาส ยะลา นครศรีธรรมราช ชุมพร ปัตตานี ระนอง สงขลา พังงา และภาคตะวันออก เช่น จันทบุรี ระยอง ตราด ที่เหลือเป็นส่วนภาคอื่นๆ เช่น อุตรดิตถ์ เป็นต้น ส่วนใหญ่มักนิยมปลูกเพื่อบริโภคภายในประเทศ จะมีการส่งออกต่างประเทศบ้างเล็กน้อย เนื่องจากสภาพปัญหาผลผลิตคุณภาพต่ำและการหลุดร่วงของผลจากช่อ รวมทั้งการเสื่อมคุณภาพหลังการเก็บเกี่ยวเร็ว โดยสีผิวจะเปลี่ยนจากสีเหลืองนวลเป็นสีน้ำตาลไหม้ ตลอดจนมีอาการผลเน่าเร็ว

      ลองกองเป็นผลไม้ที่อุดมไปด้วยวิตามินบี และฟอสฟอรัส มีสรรพคุณในการลดความร้อนที่เกิดขึ้นภายในร่างกายของมนุษย์ การรับประทานลองกองเป็นประจำก็ยังช่วยป้องกันไม่ให้เป็นไข้ ตัวร้อน ป้องกันไม่ให้เกิดอาการร้อนในขึ้นภายในปากอีกด้วย ลองกองมีเมล็ดน้อยหรืออาจจะไม่มีเมล็ดเลย แบ่งออกได้เป็น 3 ชนิด คือ ลองกองแห้ง ลองกองน้ำ ลองกองปาลาแม หรือลองกองแปร์แมร์

      แม้ว่าลองกองจะจัดเป็นแหล่งสำคัญของวิตามินและแร่ธาตุ รวมทั้งสารอื่นๆ ซึ่งล้วนแต่มีความจำเป็นต่อร่างกาย ที่จะนำไปสู่สุขภาพที่ดี แต่เพราะประสบปัญหาราคาตกต่ำเนื่องจากล้นตลาด จึงมีแนวคิดในเรื่องของการพัฒนาอุตสาหกรรมการแปรรูปลองกอง โดยต้องการให้เป็นทางเลือกหนึ่งที่จะเพิ่มความหลากหลายและเพิ่มมูลค่าให้กับลองกอง เนื่องจากการบริโภคสดหรือการแปรรูปโดยการทำแห้ง ทำให้ลองกองมีมูลค่าไม่สูงมากนักแต่ถ้านำมาแปรรูปจะมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น

      ด้วยเหตุนี้ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) จึงได้ดำเนินการจัดทำโครงการตามแนวพระราชดำริเพื่อเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับลองกอง ช่วยแก้ปัญหาผลผลิตล้นตลาดให้แก่เกษตรกรในช่วงฤดูกาล และช่วยเพิ่มมูลค่าผลผลิตนอกฤดูกาลให้มีมูลค่าสูงขึ้น ตลอดจนเป็นทางเลือกให้ผู้บริโภคสามารถเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ได้หลากหลาย อันจะช่วยให้เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่มั่นคงและประกอบอาชีพได้อย่างยั่งยืน โดยแบ่งกิจกรรมได้ดังนี้

  1. วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์และ/หรือผลิตภัณฑ์แปรรูปลองกอง โดยควบคุมคุณภาพวัตถุดิบให้ตรงตามข้อกำหนด  GAP จนได้ออกมาเป็น น้ำลองกองเข้มข้น, น้ำลองกองพร้อมดื่มเสริมสุขภาพ , ลองกองในน้ำเชื่อมบรรจุกระป๋อง และลองกองแช่อิ่มอบแห้ง
  2. วิจัยและพัฒนาเครื่องจักรต้นแบบแปรรูปการผลิตภัณฑ์และ/ หรือผลิตภัณฑ์แปรรูปลองกอง จนได้ เครื่องล้างและปลิดขั้วลองกอง และเครื่องสกัดน้ำลองกอง
  3. วิจัยและพัฒนาบรรจุภัณฑ์ต้นแบบ  บรรจุผลิตภัณฑ์และ/หรือผลิตภัณฑ์แปรรูปลองกอง ในลักษณะของบรรจุภัณฑ์ที่สามารถเก็บรักษาคุณภาพด้าน  สี  กลิ่น รส และคุณค่าทางโภชนาการให้คงอยู่กับผลิตภัณฑ์
  4. ดำเนินการผลิตผลิตภัณฑ์และ/หรือลองกองสำเร็จรูปเพื่อการศึกษาทดลองผลิตภัณฑ์  ทดสอบตลาดผลิตภัณฑ์
  5. ศึกษาประเมินความเป็นไปได้ทางเศรษฐศาสตร์  เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ผู้ประกอบการหรือวิสาหกิจชุมชน   เกษตรกรชาวสวนที่ปลูกลองกอง

     

     วานิลลาเป็นพืชวงศ์กล้วยไม้ (ORCHIDACEAE) ฝักเมื่อนำไปบ่มมีกลิ่นหอมของวานิลลิน มีถิ่นกำเนิดในประเทศเม็กซิโก และประเทศในแถบตะวันออกของทวีปอเมริกากลาง มีรายงานว่า มีมากถึงกว่า 200 สายพันธุ์ การกระจายพันธุ์อยู่ในเขตเส้นรุ้งที่ 20 องศาเหนือ-ใต้ของเส้นศูนย์สูตร สายพันธุ์ที่มีคุณค่าทางการค้ามีอยู่เพียง 3 สายพันธุ์คือ

  1. Vanilla planifolia (Andrews.)
  2. วานิลลอน Vanilla pompona
  3. วานิลลาตาฮิติ Vanilla tahaitensis

     ที่นิยมปลูกเป็นการค้ามากที่สุดคือ Vanilla planifolia (Andrews.) เรียกกันว่า วานิลลาพันธุ์การค้า

     ประเทศไทยมีวานิลลาพื้นเมืองขึ้นกระจายอยู่ 4 สายพันธุ์คือ

  1. พลูช้าง หรือตองผา Vanilla siamensis Rolfe ex Kownie
  2. เอาะลบ Vanilla albida Blume
  3. สามร้อยต่อใหญ่ หรือ งด Vanilla pilifera Holttum
  4. เถางูเขียว Vanilla aphylla Blume.

     ประเทศไทยรู้จักนำวานิลลาพันธุ์การค้าเข้ามาปลูกกว่า 30 ปีแล้ว โดยได้ปลูกทดลองในสถานีทดลองต่างๆของกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตร์และสหกรณ์

     สำหรับ มูลนิธิโครงการหลวงนั้น ได้ศึกษาทดลองการปลูกวานิลลาพันธุ์การค้ามาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 โดยสนับสนุนทุนวิจัยแก่นักวิชาการของสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ให้ศึกษาทดลองครั้งแรกที่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงป่าเมี่ยง ตำบลเทพเสด็จ อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ ซึ่งพบว่า มีการเจริญเติบโตของวานิลลาพื้นเมือง (พลูช้าง) Vanilla simensis Blumes. ขึ้นอยู่ในป่าธรรมชาติ จึงได้นำวานิลลาพันธุ์การค้า (Vanilla planifolia Andrews.) มาทดลองปลูกเพื่อศึกษาการเจริญเติบโต ภายใต้ร่มเงาต้นไม้ป่าธรรมชาติ และซาแรนพรางแสง 50 – 70 เปอร์เซ็นต์ พบว่าสามารถเจริญเติบโตได้ดีและสามารถให้ดอกในปีที่ 3 ของการปลูกด้วยต้นกล้าจากการปักชำต้น และจะออกดอกประมาณปลายเดือนมีนาคม ถึง เมษายน โดยจะเร็วกว่าสายพันธุ์พื้นเมืองประมาณ 1 เดือน เนื่องจากวานิลลาเป็นพืชเลื้อยสามารถมีอายุข้ามปีได้หลายปี จึงมีการศึกษาถึงวัสดุที่ใช้ทำค้างเกาะ ทั้งค้างมีชีวิต คือ ต้นไม้ที่ใบสามารถพรางแสงได้ 50 – 70 เปอร์เซ็นต์ (ต้น Facultalia ซึ่งเป็นพืชตระกูลถั่ว) และค้างเกาะซีเมนต์ พบว่าการใช้ค้างซีเมนต์น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีทีสุดในการปลูกวานิลลาเชิงการค้า นอกจากนี้การเปรียบเทียบการใช้วัสดุคลุมดินด้วยกาบมะพร้าวสับ พืชตระกูลถั่ว และหญ้า นั้นไม่พบความแตกต่างในการเจริญเติบโตของวานิลลา

     สำหรับการศึกษาการบ่มฝักวานิลลาพบว่าการประยุกต์วิธีการบ่มฝักของประเทศมาดากาสก้าร์โดยผ่านกระบวนการบ่มหลักๆ 4 ขั้นตอน คือ

  1. Killing
  2. Sweating
  3. Slow drying
  4. Conditioning

     สามารถทำให้ฝักวานิลลามีกลิ่นหอม สีของฝักเป็นสีช็อคโกเล็ตเข้ม ฝักมีความนุ่ม ความชื้นประมาณ 30-40 เปอร์เซนต์ เมื่อนำไปวิเคราะห์ปริมาณสารวานิลลิน พบว่ามีประมาณ 2.21 เปอร์เซ็นต์ ทัดเทียมกับต่างประเทศ ที่ผิวฝักพบผลึกสีขาวใสของวานิลลิน หรือเรียกกันว่า frost เกาะอยู่ ซึ่งบางประเทศใช้เป็นตัวบ่งบอกถึงคุณภาพฝักวานิลลาที่ดี

     ในปี 2549 ได้มีการศึกษาทดลองปลูกในโรงเรือนพลาสติกที่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงขุนวาง ต.แม่วิน อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่ ระดับความสูง 1,200 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล พบวาสามารถให้ผลผลิตสูง และให้ผลผลิตต่อเนื่องทุกปี ฝักที่บ่มมีปริมาณสารวานิลลิน สูงถึงประมาณ 2.40 เปอร์เซ็นต์ แต่การสุกแก่ของฝักจะประมาณ 12 เดือน ซึ่งนานกว่าที่ศูนย์ป่าเมี่ยงประมาณ 2 เดือน ทำให้คาบเกี่ยวกับการออกดอกรุ่นใหม่ประมาณปลายเดือนกุมภาพันธุ์ ทำให้ไม่สามารถตัดแต่งทรงต้นหลังเก็บเกี่ยวได้

     จากการศึกษาดังกล่าว มูลนิธิโครงการหลวงได้ขยายผลการวิจัยสู่การผลิตเชิงการค้าโดยส่งเสริมให้เกษตรกรบนพื้นที่สูง 8 ราย ปลูกในระบบโรงเรือนพลาสติก ผ่านการสนับสนุนงบประมาณบางส่วนจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ และเกษตรกร 4 รายปลูกในระบบโรงเรือนพรางแสงที่ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงม่อนเงาะ อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่

    สำหรับผลผลิตจากการศึกษาทดลองวานิลลานั้นได้ส่งจำหน่ายในรูปฝักวานิลลาบ่มผ่านฝ่ายตลาดของมูลนิธิโครงการหลวง และทดลองผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ในเมนูอาหาร เช่น น้ำเชื่อมวานิลลา น้ำเลมอนผสมวานิลลา และฟักทองวานิลลา ที่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงขุนวาง ภายใต้แนวคิดว่าการส่งเสริมให้เกษตรกรได้ผลิตมากขึ้นจะทำให้มีผลผลิตฝักวานิลลาบ่มที่ผ่านกระบวนการบ่มที่ได้มาตรฐานเพิ่มขึ้นต่อไป โดยได้ขยายงานการส่งเสริมและพัฒนาการผลิตไปยังศูนย์ต่างๆ ได้แก่ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงขุนวาง (เป็นศูนย์เรียนรู้ศึกษาการผลิตวานิลลา) ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงป่าเมี่ยง ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงตีนตก ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงม่อนเงาะ และพื้นที่ขยายผลโครงการหลวง บ้านโป่งคำ ต.ดู่พงษ์ อ.สันติสุข จ.น่าน เป็นต้น

    ทั้งนี้ การศึกษาวิจัยเพื่อลดระยะเวลาการบ่มฝัก หรือ การพัฒนาสายพันธุ์ที่ต้านทานโรคเน่าจากเชื้อรา และพัฒนาสายพันธุ์ที่สามารถให้ดอกผสมตัวเองได้โดยไม่ต้องใช้แรงงานคนช่วยผสมดอก นับว่ามีความจำเป็นในการปลูกวานิลลาเชิงการค้าของประเทศไทยและของโลก

     สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ได้พัฒนาการเพาะเห็ดเขตหนาวหลายชนิดมากขึ้น จากการนำเข้าสายพันธุ์เห็ดเขตหนาวจากต่างประเทศ เช่นเห็ดชิเมจิ เห็ดนางรมหลวง เห็ดนาเมโกะ เห็ดซึงิตาเกะ เห็ดนางรมดอย เห็ดปุยฝ้าย เห็ดนางรมทอง เห็ดโคนญี่ปุ่น เห็ดหูหนูเผือก และเห็ดไมตาเกะ มาศึกษาทดลองการเพาะเลี้ยงที่ ศูนย์วิจัยเห็ดเขตหนาวดอยปุย อ.เมือง จ.เชียงใหม่ โดยมูลนิธิโครงการหลวงมอบหมายให้ วว. ดำเนินการวิจัย พัฒนา ทดสอบการเพาะเห็ดในระบบควบคุม หรือระบบปิดโดยควบคุมอุณหภูมิด้วยเครื่องทำความเย็น เพื่อทดลองตลาดผ่ายฝ่ายตลาดมูลนิธิโครงการหลวง เห็ดเขตหนาว และกึ่งเขตหนาว เห็ดบางชนิดได้ขยายผลสู่เกษตรกรของศูนย์พัฒนาโครงการหลวงต่างๆ เช่น ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงม่อนเงาะ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงขุนวาง (ระบบปิดแบบประยุกต์) ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงตีนตก ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงป่าเมี่ยง ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงหมอกจ๋าม ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่สะเรียง ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงพระบาทห้วยต้ม และสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง เป็นต้น ซึ่งระบบการผลิตด้วยระบบปิดแบบประยุกต์นี้สามารถควบคุมสภาพแวดล้อมในการเปิดดอกได้ดีกว่าการเพาะเห็ดระบบเปิดโดยเฉพาะอย่างยิ่งการลดอุณหภูมิในโรงเรือนเปิดดอกให้ต่างจากอุณหภูมิภายนอกได้ถึง 5-6 องศาในฤดูร้อน ทำให้ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงขุนวาง สามารถผลิตเห็ดกระดุมนอกฤดูกาลได้ จากการใช้เทคโนโลยีการลดอุณหภูมิด้วยน้ำ

     งานพัฒนาเทคโนโลยีการเพาะเห็ดของมูลนิธิโครงการหลวง เน้นการผลิตในระบบคุณภาพมาตรฐานสากล หรือระบบ GAP หรือ Global GAP การวิจัยและพัฒนาการเพาะเห็ดชนิดใหม่ๆ และการนำเห็ดจากป่าธรรมชาติมาเพาะเลี้ยงเพื่อกระตุ้นให้เกษตรกรปลูกป่าเพื่อใช้สอยและสร้างรายได้จากการเพาะเห็ดในป่าธรรมชาติ รวมทั้งเน้นการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์แปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม และให้ความสำคัญในการพัฒนาด้านบรรจุภัณฑ์ที่เน้นการใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม บรรจุภัณฑ์สำหรับสินค้าอินทรีย์ เพื่อส่งออกไปต่างประเทศและตลาดในประเทศ

สูตรปุ๋ยอินทรีย์เคมีละลายช้าสำหรับการผลิตข้าวแบบใช้ปุ๋ยครั้งเดียวที่ วว. ผลิตขึ้นนั้น ประกอบด้วยอะไรบ้าง เราลองมาดูกันค่ะ และหากท่านใดที่สนใจ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ (ศนก.), สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเะทศไทย (วว.) โทร. 0-2577 9300
e-mail : tistr@tistr.or.th



ชาญชัย คหาปนะ
นักทดลองวิทยาศาสตร์บริการ
ห้องปฏิบัติการทดสอบการสลายตัวทางชีวภาพของวัสดุ
ศูนย์พัฒนาและวิเคราะห์สมบัติของวัสดุ, วว.

 

          ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม มีการใช้สารกำจัดศัตรูพืชในการเพิ่มผลผลิตและกำจัดศัตรูพืชสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลายาวนาน ซึ่งจากข้อมูลของสำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร ปี 2560 (ตารางที่ 1) ที่แสดงให้เห็นถึงปริมาณและมูลค่าการนําเข้าสารกําจัดศัตรูพืช นอกจากสะท้อนให้เห็นถึงมูลค่าทางเศรษฐกิจของตลาดผลิตภัณฑ์ในกลุ่มนี้แล้ว ยังสะท้อนภาพให้เห็นถึงปริมาณการใช้สารกําจัดศัตรูพืชของประเทศไทยในแต่ละปีว่ามีแนวโน้มจะสูงขึ้นอีกในอนาคต เนื่องจากมีราคาถูก เห็นผลชัดเจนและรวดเร็วในการควบคุมการระบาดของโรคและศัตรูพืช

Environmental Impacts_01

          อย่างไรก็ตาม วัตถุอันตรายทางการเกษตรเหล่านี้ มีความเป็นไปได้สูงมากที่จะตกค้างในผลผลิตและสิ่งแวดล้อมทั้งในระยะสั้นและระยะยาว รวมถึงอาจส่งผลให้ศัตรูพืชดื้อยาได้อีกด้วย นอกจากนี้ เกษตรกรสามารถเข้าถึงสารเคมีได้ง่ายและมีการใช้มากเกินความจำเป็น ประกอบกับการใช้สารที่ผิดวิธี และพฤติกรรมการใช้สารของเกษตรกรไทยที่ไม่ถูกต้องและเหมาะสม เป็นปัญหาที่สำคัญที่ก่อให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพของเกษตรกรรวมถึงผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อม

          จากข้อมูลโครงการวิจัยโดยห้องปฏิบัติการทดสอบการสลายตัวทางชีวภาพของวัสดุ (2558) ที่ตรวจพบสารกำจัดศัตรูพืชตกค้างหลายชนิดในตัวอย่างดินและน้ำของพื้นที่ปลูกพืชเศรษฐกิจแบบยกร่อง ที่ อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี อาทิ สารกำจัดเชื้อรา Carbendazim, Copper oxychloride, Ethion สารกำจัดวัชพืช Glyphosate สารกำจัดแมลง Imidacloprid โดยพบปริมาณตกค้างในดินมากกว่าในน้ำกว่า 100 เท่า (ตารางที่ 2) ซึ่งจากการรายงานของ Pimentel (1995) ได้อธิบายว่า ร้อยละ 99.9 ของสารกำจัดศัตรูพืชจะปนเปื้อนอยู่ในสิ่งแวดล้อม มีเพียงแค่ร้อยละ 0.1 ที่จะไปถึงแมลงศัตรูพืชที่เป็นเป้าหมาย นอกจากนี้ การใช้สารกำจัดศัตรูพืชที่ฉีดพ่นลงในพื้นที่เกษตรกรรมมีการสะสมในดินได้ในปริมาณที่ไม่เท่ากัน ซึ่งตามปกติจะพิจารณาจากค่าครึ่งชีวิต (Half Life) ของสารชนิดนั้นว่าใช้ระยะเวลาการสลายตัวจนเหลือความเข้มข้นร้อยละ 50 ถ้าหากสลายตัวได้ช้าโอกาสที่สารนั้นจะแพร่กระจายลงสู่แหล่งน้ำย่อมเป็นไปได้สูง

Environmental Impacts_02

IMG_0138-1  IMG_0141-1  IMG_0861-1

          แนวทางหนึ่งในการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ คือ การใช้กระบวนการทางชีวภาพที่เรียกว่า Bioremediation ซึ่งเป็นการใช้ประโยชน์จากกิจกรรมของกลุ่มจุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพในการปรับเปลี่ยนโครงสร้างของสารอันตรายให้อยู่ในรูปของสารที่มีค่าความเป็นพิษน้อยลงหรือสลายตัวได้อย่างสมบูรณ์เป็นกระบวนการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และสามารถประยุกต์ใช้กับพื้นที่ขนาดใหญ่ได้ จากผลการดำเนินงานในหัวข้อนี้มากว่า 10 ปี วว. ประสบความสำเร็จในการนำเทคโนโลยีด้าน Bioaugmentation ซึ่งเป็นวิธีการหนึ่งของกระบวนการ Bioremediation มาใช้ในการบำบัดสารกำจัดศัตรูพืชปนเปื้อนในน้ำ ทั้งในพื้นที่ภาคเกษตร และภาคอุตสาหกรรม ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับกลุ่มอาชีพที่เกี่ยวข้องกับเกษตรอินทรีย์ รวมถึงการมีส่วนช่วยลดปัญหามลภาวะที่เกิดขึ้น เป็นการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมและปลอดภัยต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน

 

เอกสารอ้างอิง:

สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร. 2560. รายงานสรุปการนำเข้าวัตถุอันตรายทางการเกษตร ปี พ.ศ. 2559. กรุงเทพฯ: กรมวิชาการเกษตร, กระทรวงเกษตรและสหกรณ์.

Pimentel, D. 1995. Amounts of Pesticides Reaching Target Pests: Environmental Impacts and Ethics, Journal of Agricultural and Environmental Ethics, 8(1), 17-29.

โครงการพัฒนา เกษตรกร ด้วย วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม

Infographic_Mushroom_180760


การเพาะเห็ดฟางในตะกร้า


เห็ดเมืองหนาว Mushroom Cultivation

วว. กับการวิจัยทางด้านเห็ด

>> เรียบเรียง โดย นพวรรณ  หาแก้ว <<<

 

 

          ในทางการเกษตรเห็ดจัดเป็นอาหารประเภทผักชนิดหนึ่ง  แต่ในทางวิทยาศาสตร์นั้น เห็ดจัดเป็นราชนิดหนึ่ง  เห็ดมีคุณค่าทางโภชนาการค่อนข้างสูง  เนื่องจากมีโปรตีนกากใยอาหารสูง  ปราศจากไขมัน  ปริมาณน้ำตาลและเกลือค่อนข้างต่ำ  รวมทั้งยังอุดมไปด้วยวิตามินหลายชนิดรวมทั้งวิตามินบีรวม  และสารไนอาซิน ซึ่งช่วยควบคุมระบบย่อยอาหาร  นอกจากนี้อะมิโนหลายชนิดในเห็ดทำหน้าที่ช่วยกระตุ้นประสาทการรับรู้รสอาหารของลิ้นให้ไวกว่าปกติ ดังนั้นเห็ดจึงจัดเป็นอาหารเพื่อสุขภาพของมนุษย์มีคุณสมบัติเป็นยาป้องกันและรักษาโรค  นอกจากนี้เห็ดบางชนิดยังสามารถนำมาเป็นส่วนประกอบในเครื่องสำอางเพื่อความงามด้วยตัวอย่างประโยชน์ของเห็ดทางการแพทย์  เช่น  เห็ดนางรมและเห็ดนางฟ้า  สามารถช่วยป้องกันโรคหวัดและช่วยการไหลเวียนเลือด  เห็ดเข็มทองช่วยบำรุงตับกระเพาะและลำไล้  เห็ดหอมช่วยลดไขมันในเสนเลือด  เพิ่มภูมิคุ้มกัน  บำรุงกระดูกและฟัน  เห็ดฟางมีวิตามินสูง  ช่วยลดความดัน  และช่วยเร่งสมานแผล  เห็ดหลินจือที่อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ  ช่วยในการกระตุ้นภูมิคุ้มกัน  เห็ดเข็มทองช่วยบำรุงตับ กระเพาะและลำไส้  และเห็ดหูหนูที่ช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกัน  รักษาโรคกระเพาะและริดสีดวง  เป็นต้น

          ฝ่ายเทคโนโลยีการเกษตร สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)  เล็งเห็นถึงคุณประโยชน์ของเห็ด  จึงได้ดำเนินงานวิจัยเกี่ยวกับเห็ดมาอย่างต่อเนื่อง  ซึ่งการดำเนินวิจัยและพัฒนาเห็ดของ วว. นั้นประกอบด้วยการวิจัยหลักๆ ทั้งสิ้น 4 สาขาคือ เทคโนโลยีก่อนการเก็บเกี่ยว (preharvest)  เทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว (postharvest)  การวิจัยและพัฒนาสินค้าและผลิตภัณฑ์จากเห็ด (R&D product)  และการถ่ายทอดเทคโนโลยี (technology transferring, consultancy and training services)  หนึ่งในงานที่ประสบผลสำเร็จของฝ่ายเทคโนโลยีการเกษตรกับการวิจัยด้านเห็ดทางด้านเทคโนโลยีก่อนการเก็บเกี่ยวคือ การพัฒนาสายพันธุ์เห็ดยานางิ (เห็ดโคนญี่ปุ่น) ซึ่งเป็นเห็ดเมืองหนาว  ให้สามารถเพาะได้ในพื้นที่ราบหรือภาคกลางได้ โดยดั้งเดิมนั้นเห็ดสายพันธุ์นี้สามารถเปิดดอกในที่อุณหภูมิต่ำเท่านั้น  หรือเพาะได้เฉพาะทางภาคเหนือของประเทศไทย    ส่งผลให้ผลิตผลของเห็ดดังกล่าวไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภคที่มีความต้องการตลอดทั้งปี    ซึ่ง ดร.ธนภักษ์ อินยอด และคณะ ได้ริเริ่มดำเนินโครงการวิจัยการปรับปรุงสายพันธุ์เห็ดเมืองหนาว สำหรับกลยุทธ์ที่นำมาใช้ในการวิจัยและพัฒนาครั้งนี้คือ การกระตุ้นให้เห็ดยานางิสายพันธุ์เดิมนั้นเกิดการกลายพันธุ์ด้วยรังสีแกมมา  โดยเป้าหมายหรือผลลัพธ์ที่ต้องการคือ เห็ดยานางิที่มีลักษณะทางกายภาพเหมือนเดิมทุกประการ  แต่สามารถเพาะในพื้นที่ราบซึ่งมีอุณหภูมิสูงได้  จากการวิจัยและพัฒนานี้ทำให้สามารถได้เห็ดยานางิสายพันธุ์ที่สามารถเปิดดอกในที่อุณหภูมิสูงได้ทั้งหมด 5 สายพันธุ์  จึงนับว่าเป็นความสำเร็จครั้งสำคัญของ วว. อีกครั้งหนึ่ง

 

วว. กับการวิจัยทางด้านเห็ด
การเปิดดอกเพื่อทดสอบสายพันธุ์เห็ดเทียบกับสายพันธุ์ควบคุม

 

วว. กับการวิจัยทางด้านเห็ด
การพัฒนาสายพันธุ์เห็ดโคนญี่ปุ่น ด้วยรังสีแกมมาเพื่อเพาะในเขตพื้นที่ราบ

          นอกจากนี้เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ฝ่ายเทคโนโลยีการเกษตรได้จัดงานสัมมนาวิชาการภายในขึ้น โดยมีนักวิจัยในฝ่ายมาแลกเปลี่ยนความรู้ในด้านเทคโนโลยีการเกษตรกันอย่างหลากหลาย ดร.คนึงนิจ บุศราคำ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้บรรยาย ได้เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับการเริ่มดำเนินงานวิจัยทางด้านเห็ดขอวง วว. ซึ่งมีมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2512   โดยแต่เดิมนั้น ฝ่ายเทคโนโลยีการเกษตรมีศูนย์ประสานงานเกษตรที่สูงที่รับผิดชอบในการนำเข้าเห็ดเมืองหนาวเข้ามาเพาะในพื้นที่ภาคเหนือของไทย  ซึ่งเห็ดที่นำเข้ามาเพาะได้แก่ เห็ดหอม  เห็ดกระดุม  เห็ดภูฐาน  เห็ดเข็มทอง  เห็ดเป๋าฮื้อ  และเห็ดยานางิ  โดยระหว่าง พ.ศ. 2512-2540 ซึ่งเป็นระยะแรกของการดำเนินงานด้านเห็ดนั้น วว. มุ่งเน้นไปที่การพัฒนาวิธีการและการพัฒนาวัสดุปลูกให้เหมาะสมต่อเห็ดแต่ละชนิดเพื่อให้สามารถเพาะปลูกได้บนพื้นที่ภาคเหนือของไทย การศึกษาและทดลองในระยะนั้น ทำให้ วว. มีพันธมิตรในการทำวิจัยหลายหน่วยงานไม่ว่าจะเป็นสถาบันการศึกษาอย่าง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยขอนแก่น  มหาวิทยาลัยนเรศวร  มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ  มหาวิทยาลัยศิลปากร  มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี และมหาวิทยาลัยมหาสารคาม หรือหน่วยงานราชการอย่างกรมวิทยาศาสตร์บริการ  สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ  กรมอนามัย  กรมวิชาการเกษตร  กรมส่งเสริมการเกษตร และหน่วยงานเอกชน เช่น บริษัท สหฟาร์มเห็ด  สวนเห็ดบ้านอรัญญิก  และบริษัทปิยะพรเทคโนโลยีจำกัด เป็นต้น

วว. กับการวิจัยทางด้านเห็ด
เห็ดเมืองหนาว ที่นำเข้ามาผลิตในประเทศไทยตั้งแต่ในอดีต

          ต่อมาในปี พ.ศ. 2543 ซึ่งเป็นระยะที่สองของการดำเนินงาน  แนวทางในการวิจัยของ วว. ได้ปรับเน้นไปทางด้านการศึกษาสารสำคัญของเห็ดชนิดต่างๆ ในการป้องกันรักษาโรค  ซึ่งเป็นการเพิ่มมูลค่าเห็ดเศรษฐกิจอย่างครบวงจรและยั่งยืน  โดยในปี พ.ศ. 2548- 2550 วว. มีโครงการบูรณาการด้านวิจัยและพัฒนาการเพิ่มมูลค่าเห็ดเศรษฐกิจอย่างครบวงจรและยั่งยืน และในปีพ.ศ. 2557-2559 ได้ดำเนินการโครงการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ลดความเสี่ยงโรคเกาต์  ต่อมา วว. ได้เริ่มทำการวิจัยการปรับปรุงสายพันธุ์เห็ดเมืองหนาว อันได้แก่ เห็ดหอม  เห็ดยานางิหรือเห็ดโคนญี่ปุ่น เพื่อให้สามารถเพาะปลูกในบริเวณภาคกลางหรือพื้นที่ราบได้ โดยในปี พ.ศ. 2556-2558 ได้เริ่มดำเนินการโครงการวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์เห็ดและระบบการผลิตเห็ดเมืองหนาวในพื้นราบเชิงพาณิชย์ รวมทั้งการวิจัยและพัฒนาการเพาะปลูกเห็ดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและลดปัญหาวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร  ในระหว่างปี พ.ศ. 2560-2562  วว. ได้เริ่มดำเนินโครงการวิจัยและพัฒนาการผลิตเห็ดพื้นบ้านแบบธรรมชาติในป่าชุมชนต้นแบบอย่างยั่งยืน และในปีพ.ศ. 2561-2562 ยังริเริ่มโครงการเทคโนโลยีการผลิตเห็ดโคนญี่ปุ่นแบบอินทรีย์เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศขึ้นอีก

วว. กับการวิจัยด้านเห็ด
โครงการวิจัยและพัฒนาการผลิตเห็ดพื้นบ้านแบบธรรมชาติในป่าชุมชนต้นแบบอย่างยั่งยืน

          ในด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์เห็ดเพื่อส่งเสริมสุขภาพนั้น ดร.ตันติมา กำลัง และคณะ ได้ทำการศึกษาวิจัยและพัฒนาเห็ดเพื่อลดความเสี่ยงโรคเกาต์  เนื่องจากองค์ประกอบหลักของเห็ดคือ สารเบต้ากลูแคน (b-glucan) ซึ่งเป็นสารพอลิแซคคาไรด์ (polysaccharide) ที่ลดการอักเสบ  โดยงานวิจัยนี้จะเป็นการพัฒนาเห็ดที่มีสารเบต้ากลูแคนให้อยู่ในรูปแบบที่ง่ายต่อการบริโภค  นอกจากนี้ ดร.ตันติมา และคณะ ยังการพัฒนากระบวนการผลิตโดยใช้ถังหมัก (fermenter) เพื่อลดระยะเวลาในการเพาะเลี้ยงเห็ดให้ผลิตสารดังกล่าวในระยะเวลาที่สั้นลง

วว. กับการวิจัยทางด้านเห็ด
โครงการวิจัยและพัฒนาเห็ดเพื่อลดความเสี่ยงโรคเกาต์

 

          สำหรับงานวิจัยทางด้านเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว  ฝ่ายเทคโนโลยีการเกษตรร่วมกับศูนย์บรรจุหีบห่อไทย วว. ได้ทำการศึกษาและพัฒนาการใช้กล่อง รวมทั้งศึกษาชนิดของพลาสติกต่างๆ ในตลาด เพื่อชะลอการเสื่อมคุณภาพของเห็ดสดหลังจากการเก็บเกี่ยว  ซึ่งปกติแล้วการเสื่อมคุณภาพของเห็ดนั้น เกิดจากการทำงานของเอนไซม์กลุ่มพอลิฟีนอลออกซิเดส (polyphenol oxidase, PPOs) และเพอร์ออกซิเดส (peroxidase)  ซึ่งทำให้เกิดปฏิกิริยาออกซิเดชันในสภาวะที่มีออกซิเจน (aerobic oxidation) ของสารประกอบฟีนอล (phenolic compound) เกิดเป็นสารควิโนน (quinone)  ที่มีสีน้ำตาล  ซึ่งทำให้เห็ดกลายเป็นสีน้ำตาล (browning) นั่นเอง   ซึ่งการกลายเป็นสีน้ำตาลนั้น ทำให้เห็ดเสียราคา  และเก็บรักษาได้ไม่นาน

วว. กับการวิจัยทางด้านเห็ด
ศึกษาและพัฒนาการใช้กล่อง รวมทั้งศึกษาชนิดของพลาสติกต่างๆ ในตลาด เพื่อชะลอการเสื่อมคุณภาพของเห็ดสดหลังจากการเก็บเกี่ยว

          ในส่วนของการถ่ายทอดเทคโนโลยี การบริการที่ปรึกษา รวมถึงการฝึกอบรม  ทางฝ่ายเทคโนโลยีการเกษตรได้ทำการเผยแพร่องค์ความรู้ให้กับกลุ่มเกษตรกร  กลุ่มแม่บ้าน และชุมชนต่างๆ มากมาย  เช่น การให้คำปรึกษากระบวนการผลิตเห็ดตามมาตรฐาน GMP โดยผู้รับการถ่ายทอด คือ พี.เจ. ฟาร์ม อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่  การถ่ายทอดการแปรรูปเพื่อแก้ปัญหาเห็นล้นตลาด เช่น ข้าวเกรียบเห็ด  แหนมเห็ด เป็นต้น โดยผู้รับการถ่ายทอดคือ สวนเห็ดกรรณิการและผลิตภัณฑ์แสนสมัย  การอบรมการเพาะเห็ดตีนแรด เพื่อส่งเสริมอาชีพให้กับเกษตรกร ซึ่งมีผู้เข้าอบรมคือ เกษตรกร จ.ยโสธร  และการอบรมการเพาะเห็ดฟางในตะกร้าเพื่อส่งเสริมอาชีพแก่เกษตรกรและวิสาหกิจชุมชน โดยมีเกษตรกรผู้สนใจผู้เข้ารับการอบรม ที่ วว. เทคโนธานี คลองห้า จ.ปทุมธานี

การให้คำปรึกษากระบวนการผลิตเห็ดตามมาตรฐาน GMP ผู้รับการถ่ายทอด คือ พี.เจ. ฟาร์ม อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่

 

วว. กับงานวิจัยทางด้านเห็ด
การถ่ายทอดการแปรรูปเพื่อแก้ปัญหาเห็นล้นตลาด ผู้รับการถ่ายทอดคือ สวนเห็ดกรรณิการและผลิตภัณฑ์แสนสมัย

 

วว. กับการวิจัยทางด้านเห็ด
การอบรมการเพาะเห็ดตีนแรด เพื่อส่งเสริมอาชีพให้กับเกษตรกร ผู้เข้าอบรมคือ เกษตรกร จ.ยโสธร

 

วว. กับการวิจัยทางด้านเห็ด
การอบรมการเพาะเห็ดฟางในตะกร้าเพื่อส่งเสริมอาชีพแก่เกษตรกรและวิสาหกิจชุมชน โดยมีเกษตรกรผู้สนใจผู้เข้ารับการอบรม ที่ วว. เทคโนธานี คลองห้า จ.ปทุมธานี

          งานวิจัยและพัฒนาด้านเห็ดของฝ่ายเทคโนโลยีการเกษตร วว. นั้น นับว่ามีส่วนสำคัญในการช่วยพัฒนาและส่งเสริมเศรษฐกิจตั้งแต่ระดับต้นน้ำถึงปลายน้ำ ช่วยให้การพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกร ให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง และผู้ประกอบการอย่างยั่งยืน

——————————————————