ศูนย์ทดสอบมาตรฐานระบบขนส่งทางราง (ศทร.-วว.) ร่วมเป็นวิทยากรนำเสนอเรื่องมาตรฐานการทดสอบชิ้นส่วนระบบรางในงาน “การพัฒนามาตรฐานระบบราง” ซึ่งจัดโดยกรมขนส่งทางราง (ขร.)

13 กันยายน 2562

  ดร.อาณัติ หาทรัพย์ ผู้อำนวยการศูนย์ทดสอบมาตรฐานระบบขนส่งทางราง (ศทร.) สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)  และทีมงานนักวิชาการ ศทร.  เข้าร่วมสัมมนาเชิงปฎิบัติการ “การพัฒนามาตรฐานระบบราง” ณ โรงแรมรอยัลปริ้นเซส ซึ่งจัดโดยกรมขนส่งทางราง (ขร.) ในงานนี้ ดร.อาณัติ หาทรัพย์ ร่วมเป็นวิทยากรนำเสนอเรื่องการทดสอบรางรถไฟ และแลกเปลี่ยนประสบการณ์องค์ความรู้ด้านการทดสอบชิ้นส่วนระบบรางเพื่อนำไปสู่การพัฒนาเป็นมาตรฐานการทดสอบชิ้นส่วนระบบรางของประเทศต่อไป

ศูนย์ทดสอบมาตรฐานขนส่งทางราง (ศทร.-วว.) เข้าประชุมร่วมกับ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และ บมจ. อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ เพื่อหารือและพัฒนาร่างมาตรฐานการทดสอบเพื่อรองรับการผลิตรถโบกี้บรรทุกตู้สินค้าในประเทศ

12 กันยายน 2562 

ศูนย์ทดสอบมาตรฐานขนส่งทางราง (ศทร.) สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) นำโดย ดร.อาณัติ หาทรัพย์ ผู้อำนวยการศูนย์ทดสอบมาตรฐานระบบขนส่งทางราง และทีมงานนักวิชาการ เข้าประชุมร่วมกับการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)  และบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด เพื่อหารือและพัฒนาร่างมาตรฐานการทดสอบรถโบกี้บรรทุกตู้สินค้า (บทต.) หรือ Bogie Container Flat Wagon (BCF.) ที่ประกอบจากผู้ประกอบการไทยให้ทัดเทียมมาตรฐานสากล ทางศูนย์ทดสอบมาตรฐานระบบขนส่งทางรางมีความพร้อมด้านองค์ความรู้และเครื่องมือทดสอบสำหรับสนับสนุนอุตสาหกรรมประกอบรถไฟไทยให้มีความพร้อมรองรับการผลิตในประเทศทดแทนการนำเข้า (Local Content)

ศูนย์ทดสอบมาตรฐานระบบขนส่งทางราง (ศทร.-วว.) เสนอการศึกษาวิจัยให้แก่ผู้ผลิตรถไฟความเร็วสูงประเทศจีน

9 กรกฎาคม 2562

ศูนย์ทดสอบมาตรฐานขนส่งทางราง (ศทร.) สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) นำโดย ดร.อาณัติ หาทรัพย์ ผู้อำนวยการศูนย์ทดสอบมาตรฐานระบบขนส่งทางราง และนายสราวุธ แสงวิเชียร นักวิชาการ ศทร. ได้เข้าร่วมยื่นข้อเสนอโครงการวิจัยที่ CRRC Qingdao Sifang ณ เมืองชิงเต่า ประเทศจีน ซึ่งเป็นผู้ผลิตรถไฟความเร็วสูงประเทศจีน โดย ศทร. ได้เสนอการศึกษาวิจัยเรื่อง “Study on Service Performance and Life Evaluation Analysis on Aluminum Alloys and Their Arc Welding Joints under The Atmospheric Environment in Indonesia and Thailand” โดยงานวิจัยนี้จะทำการศึกษาผลกระทบของสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกันในประเทศไทย และประเทศอินโดนีเซียซึ่งส่งผลกระทบต่อสมรรถณะและความปลอดภัยของชิ้นส่วนสำคัญในรถไฟความเร็วสูงอาทิเช่น ตู้รถไฟความเร็วสูง โบกี้เฟรม ฯลฯ โดยทำการศึกษาวัสดุ รอยเชื่อม ชิ้นส่วนขนาดจริง เป็นต้น ทั้งในห้องปฎิบัติการ (Laboratory) และสภาพบรรยากาศเปิด (Outdoor) ทั้งในประเทศไทย และประเทศอินโดนีเซีย การวิจัยดังกล่าวนี้จะเป็นพื้นฐานสำคัญในการออกแบบรถไฟความเร็วสูงที่จะมีการใช้งานในภูมิภาคนี้ต่อไป