การวิจัยพัฒนา “เครื่องเจาะก้อนเห็ด” เป็นผลสืบเนื่องจาก วิสาหกิจชุมชนกลุ่มเพาะเห็ดเศรษฐกิจ พื้นที่ ต.ศาลาลอย อ.ท่าเรือ จ.อยุธยา ประกอบอาชีพหลักทำนา และมีอาชีพเสริมคือเพาะเห็ดเศรษฐกิจและผลิตก้อนเชื้อเห็ดจำหน่าย
ในการผลิตก้อนเชื้อเห็ดเดิมตั้งแต่การหยอดเชื้อจนกระทั่งเชื้อเดินเต็มก้อนจะใช้เวลาประมาณ 35-42 วัน ผู้นำกลุ่มโดย นายพันธกานต์ ปทุมวัน จึงได้คิดค้นวิธีการย่นระยะเวลาการผลิตก้อนเชื้อเห็ดด้วยการใช้แท่งเหล็กแทงในก้อนก่อนหยอดเชื้อเห็ดพบว่าเชื้อเดินเต็มก้อนภายในเวลา 15-20 วัน แต่การใช้แท่งเหล็กฯ มีข้อจำกัดคือ ต้องใช้แรงคนที่ต้องมีกำลังแขนแข็งแรงมากในการกด และสามารถแทงก้อนเชื้อได้เพียงวันละ 278 ก้อน แต่ความต้องการของวิสาหกิจชุมชนฯ คือ ต้องการผลิตก้อนเชื้อเพื่อจำหน่ายให้ได้วันละ 1,000 ก้อน
*** การเจาะก้อนเชิ้อเห็ด แบบเดิม***
ดังนั้นเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) โดย ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมหุ่นยนต์และเครื่องจักรกลอัตโนมัติ จึงได้บูรณาการวิจัยพัฒนา “เครื่องเจาะก้อนเห็ด” ภายใต้โครงการหนึ่งตำบล หนึ่งนวัตกรรมเกษตร เพื่อแก้ปัญหาให้กลุ่มเกษตรกร ประสบผลสำเร็จคิดค้นพัฒนาชุดอุปกรณ์เครื่องเจาะก้อนเห็ดเพื่อใช้ทดแทนใช้แรงคน โดยเป็นเครื่องมือทางกล ที่มีกำลังการผลิตวันละ 1,000 ก้อน
และนำร่องการใช้ผลงานวิจัยพัฒนา “เครื่องเจาะก้อนเห็ด” ณ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มเพาะเห็ดเศรษฐกิจ พื้นที่ ต.ศาลาลอย อ.ท่าเรือ จ.พระนครศรีอยุธยา