ตัวอย่างผลงานเด่น
บริการวิเคราะห์ความเสียหายและด้านการวิเคราะห์ปัญหาให้กับอุตสาหกรรมโดยใช้เครื่องมือ SEM/EDX

– การวิเคราะห์ความเสียหายของโรงงานปิโตรเคมี

– การประเมินอายุการใช้งานของโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่

ผลงานเด่นด้านบริการวิเคราะห์ความเสียหาย ของ วว. ในปี 2561

สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) โดยศูนย์พัฒนาและวิเคราะห์สมบัติของวัสดุ (ศพว.) ได้ดำเนินงานให้บริการวิเคราะห์ความเสียหายเชิงโลหะวิทยาสำหรับชิ้นส่วนและโครงสร้างทางวิศวกรรมในภาคอุตสาหกรรมทุกประเภท ความเสียหายของเครื่องมือ เครื่องจักร อุปกรณ์ และโครงสร้าง เป็นปัญหาสำคัญสำหรับอุตสาหกรรมต่าง ๆ เพราะจะนำไปสู่ความเสียหายทางเศรษฐกิจเป็นมูลค่ามหาศาล และอาจเป็นอันตรายต่อผู้ปฏิบัติงาน การวิเคราะห์สาเหตุความเสียหายจึงมีความสำคัญ เพราะจะทำให้ทราบถึงรากของปัญหาหรือสาเหตุที่แท้จริงของความเสียหายนั้น และยังใช้เป็นแนวทางในการป้องกันการเกิดความเสียหายในลักษณะเดียวกันที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต ในการวิเคราะห์สาเหตุความเสียหายนั้น ปัจจัยต่างๆ ที่ใช้อธิบายการเกิดเหตุการณ์ความเสียหายเป็นสิ่งสำคัญ และการชี้บ่งสาเหตุความเสียหายที่แท้จริงจะสามารถใช้อธิบายว่าเหตุการณ์ความเสียหายนั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร และทำไมจึงเกิดขึ้น

 

ผลงานเด่นด้านการให้บริการวิเคราะห์ความเสียหายของ วว. ในปี 2561 มีดังนี้

  • วว. สามารถให้บริการวิเคราะห์หาสาเหตุความเสียหายเชิงโลหะวิทยาสำหรับชิ้นส่วนและโครงสร้างทางวิศวกรรมในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ซึ่งช่วยบ่งชี้รากของปัญหาความเสียหาย และช่วยป้องกันความเสียหายไม่ให้เกิดขึ้นอีก ช่วยลดผลกระทบความเสียหายทางเศรษฐกิจได้มากกว่า 35 ล้านบาท ได้แก่
  1. ชิ้นส่วนเส้นลวดพันเกลียว ในอุตสาหกรรมการผลิตโครงสร้างสลิง
  2. ชิ้นส่วนกระป๋องบรรจุทูน่าในซอสมะเขือเทศ ในอุตสาหกรรมอาหาร
  3. ชิ้นส่วนท่อส่งน้ำมัน ในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี
  4. ชิ้นส่วนท่อขนาดเล็กจากอุปกรณ์แลกเปลี่ยนความร้อน ในอุตสาหกรรมเคมี
  5. ชิ้นส่วนเหล็กแท่งสเตนเลสของเครื่องกรองอนุภาคขนาดเล็ก ในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี
  6. ชิ้นส่วนท่อไอน้ำรับความดันสูงและท่อโค้ง ในอุตสาหกรรมการผลิตไฟฟ้า
  7. ชิ้นส่วนขนาดเล็กของหยดโลหะเชื่อมจากการผลิตท่อไอเสีย ในอุตสาหกรรมยานยนต์
  8. ชิ้นส่วนโครงฝาครอบอุปกรณ์แลกเปลี่ยนความร้อน ในอุตสาหกรรมการผลิตสิ่งทอ
  9. ชิ้นส่วนอุปกรณ์ป้องกันก๊าซรั่วซึม ในอุตสาหกรรมการผลิตและขนส่งก๊าซ
  10. ชิ้นส่วนท่อส่งน้ำประปาของการประปาส่วนภูมิภาค ในอุตสาหกรรมการผลิตเหล็กกล้าเชื่อมด้วยไฟฟ้าสำหรับส่งน้ำ
  11. ชิ้นส่วนท่อส่งน้ำสเตนเลสสำหรับโรงผลิตยางล้อรถ ในอุตสาหกรรมยานยนต์
  12. ชิ้นส่วนเกียร์เฟืองจากระบบผลิตเม็ดพลาสติกสำหรับผลิตขวดเครื่องดื่มพลาสติกและขวดน้ำแร่ ในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี
  13. ชิ้นส่วนแผ่นไฟเบอร์กลาส ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและโรงแรม
  14. ชิ้นส่วนหน้าแปลนจากระบบผลิตเม็ดพลาสติก ในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี
  15. ชิ้นส่วนตะปูหัวใหญ่ น็อต โครงค้ำ และอุปกรณ์จับยึด จากสวนน้ำ ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและโรงแรม
  16. ชิ้นส่วนท่อโค้ง ในอุตสาหกรรมเคมี

ภาพตัวอย่างผลงานด้านการให้บริการวิเคราะห์ความเสียหายของ วว.

ผลงานเด่นด้านการวิเคราะห์ปัญหาให้กับอุตสาหกรรมโดยใช้เครื่องมือ SEM/EDX
งานทางด้านการวิเคราะห์ปัญหาให้กับอุตสาหกรรมโดยใช้เครื่องมือ SEM/EDX เป็นหนึ่งในภารกิจงานของศูนย์พัฒนาและวิเคราะห์สมบัติของวัสดุ (ศพว.) ในการวิเคราะห์/ทดสอบวัตถุดิบ ชิ้นส่วน และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับโลหะ โพลิเมอร์ และยาง โดยในช่วงเวลาที่ผ่านมาทางกลุ่มงาน SEM/EDX ได้ให้งานการบริการวิเคราะห์/ทดสอบแก่ภาคอุตสาหกรรมหลายประเภท โดยในรอบปีที่ผ่านมาได้ให้บริการ อุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ (Next-Generation Automotive) และ อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร (Food for the Future)

ภาพผิวของแผ่นเหล็กที่พบ inclusion

ตัวอย่างผลงานเด่น
ห้องปฏิบัติการทดสอบการสลายตัวทางชีวภาพของวัสดุ

หป.สช. เป็นห้องปฏิบัติการวิเคราะห์ทดสอบแห่งเดียวของประเทศไทยที่ได้รับการรับรองตามมาตรฐาน มอก. 17025-2548 (ISO/IEC 17025:2005) ในการดำเนินการทดสอบการสลายตัวได้ทางชีวภาพตามมาตรฐาน ISO 17088 กับสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) และยังเป็นห้องปฏิบัติการที่ทดสอบผลิตภัณฑ์สลายตัวได้ทางชีวภาพตามข้อกำหนด TGL-44-12 ของโครงการฉลากเขียวภายใต้มูลนิธิสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ที่เป็นหนึ่งในสมาชิกของฉลากสิ่งแวดล้อมสากลที่มีเครือข่ายมากกว่า 50 ประเทศทั่วโลก นอกจากนี้ ยังเป็นห้องปฏิบัติการที่ได้รับการขึ้นทะเบียนกับหน่วยงานรับรองระดับโลก DIN CERTCO ประเทศเยอรมัน และ Biodegradable Products Institute (BPI) ตามมาตรฐาน EN 13432, ISO 17088 หรือ ASTM D 6400 ซึ่งการรับรองผลิตภัณฑ์จากหน่วยงานสากลมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อการค้าระหว่างประเทศ คาดว่างานบริการทดสอบโดย หป.สช. จะสามารถช่วยลดต้นทุนผู้ประกอบการไทยด้านการทดสอบดังกล่าวได้มากกว่าร้อยละ 50 เมื่อเทียบกับการส่งไปทดสอบที่ห้องปฏิบัติการในต่างประเทศ จึงเป็นประโยชน์อย่างยิ่งกับผู้ผลิตหรือผู้จำหน่ายที่ต้องการมีฉลากสิ่งแวดล้อมสากลบนผลิตภัณฑ์ เพื่อการส่งสินค้าสู่ตลาดต่างประเทศได้มากขึ้น และสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก

นอกจากนี้ ยังเป็นห้องปฏิบัติการเดียวในประเทศที่ให้บริการทดสอบการสลายตัวทางชีวภาพในเบื้องต้นของวัสดุทั่วไป (In – house method) ที่สามารถตรวจสอบการสลายตัวของพลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพในสภาวะธรรมชาติ โดยใช้หลักการตรวจวัดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สะสม ที่เกิดจากกิจกรรมการย่อยสลายของจุลินทรีย์ในปุ๋ยหมัก เป็นวิธีการทดสอบที่รวดเร็ว แม่นยำ มีค่าใช้จ่ายน้อยกว่าการทดสอบตามมาตรฐานสากล เป็นประโยชน์ต่องานวิจัยและพัฒนาวัสดุ รวมถึงบรรจุภัณฑ์ชีวภาพ ของหน่วยงานวิจัยทั้งภาครัฐและเอกชน

– การทดสอบการสลายตัวทางชีวภาพตามมาตรฐานสากลโดยเป็นห้องปฏิบัติการที่ได้รับการรับรอง
มาตรฐาน ISO/IEC 17025 แห่งแรกของประเทศไทย