วว.ร่วมต้อนรับคณะกรรมาธิการ การพลังงาน สภาผู้แทนราษฎร

        เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2563 นายกิตติกร โลห์สุนทร ประธานคณะกรรมาธิการ พร้อมคณะกรรมาธิการการพลังงานสภาผู้แทนราษฎร ได้เดินทางไปเยี่ยมชมและรับฟังการบรรยายเกี่ยวกับโครงการด้านการวิจัย พัฒนาและสร้างนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีพลังงานจากขยะและชีวมวล และเยี่ยมชมศูนย์สาธิตการผลิตพลังงานทดแทนจากชีวมวลและขยะสถานีวิจัยลำตะคอง ของสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย โดยมี ดร.อาภารัตน์ มหาขันต์ รองผู้ว่าการวิจัยและพัฒนาอย่างยั่งยืน นายเฉลิมชัย จีระพันธ์ุ ผู้อำนวยการศูนย์ เชี่ยวชาญนวัตกรรมพลังงานสะอาดและสิ่งแวดล้อม และทีมนักวิจัยและพนักงานวว ร่วมให้การต้อนรับศูนย์สาธิตการผลิตพลังงานทดแทนจากชีวมวลและขยะสถานีวิจัยลำตะคอง ของสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย

 

 

 

วว.ร่วมต้อนรับ คณะกฟผ.ตรวจติดตามการดำเนินงานโครงการ “การพัฒนาเตาชีวมวลเพื่อชุมชน”

14 ส.ค 2563  ณ ห้องประชุม 11 ชั้น 3 RD 2 วว. เทคโนธานี คลองห้า นายเฉลิมชัย จีระพันธุ์ ผู้อำนวยการศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมพลังงานสะอาดและสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้ง ดร.บริสุทธิ์ จันทร์วงค์ไพศาล นักวิจัยอาวุโส ให้การต้อนรับพร้อมทั้งนำเสนอการทำงานของ “การพัฒนาเตาชีวมวลเพื่อชุมชน” ให้กับคณะทำงานของหน่วยงานการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) โดยได้ร่วมหารือและแลกเปลี่ยนข้อมูลแนวทางการใช้ประโยชน์ และชมสาธิตการใช้เตาเผาชีวมวลที่วิจัยขึ้นมา ณ ห้องประชุม 11 ชั้น 3 RD 2 วว.เทคโนธานีคลองห้า

 

 

 

วว. ร่วมลงนามความร่วมมือเชิงบูรณาการของทั้ง สี่ฝ่าย ” หน่วยงานวิจัย หน่วยงานภาครัฐภาคเอกชน และชุมชน”

เมือวันที่ 22 กรกฏาคม 2563 ดร.อาภารัตน์ มหาขันต์ รองผู้ว่าการวิจัยและพัฒนาอย่างยั่งยืน สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย(วว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) นายณรงค์ชัย คุณปลื้ม นายกเทศมนตรี เทศบาลเมืองแสนสุข นางอรัญญา รอดสบาย ประธานวิสาหกิจชุมชนเขาสามมุข นายณภัทร ประชุมพันธ์ รองประธานชุมชนเขาสามมุข ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือว่าด้วยการส่งเสริมการนำผลงานการวิจัยและพัฒนา ทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมมาใช้ประโยชน์ในรูปแบบการเชื่อมโยงเครือข่าย Quadruple Helix เพื่อการพัฒนาแนวทางการผลิตผลิตภัณฑ์ชุมชนจากเปลือกหอยนางรม ในพื้นที่จังหวัดชลบุรี โดยมีนายเฉลิมชัย จีระพันธุ์ ผู้อำนวยการศูนย์เชี่ยวชาญพลังงานสะอาดและสิ่งแวดล้อม นายไพศาล สีนาคล้วน ปลัดเทศบาลเมืองแสนสุข ร่วมเป็นพยานในการลงนามครั้งนี้ ณ ห้องประชุม กวท.ชั้น 8 อาคาร RD 1 วว. เทคโนธานีคลองห้า

 

วว. ต้อนรับบริษัทพีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด(มหาชน) ในโอกาสเยี่ยมชมอาคารคัดแยะขยะชุมชนด้วย วทน. ตำบลตาลเดี่ยว จ.สระบุรี

เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2563 ดร.อาภารัตน์ มหาขันธ์ รองผู้ว่ากลุ่มวิจัยและพัฒนาด้านพัฒนาอย่างยั่งยืน สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) พร้อมด้วย นายเฉลิมชัย จีระพันธุ์ ผอ.ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมพลังงานสะอาดและสิ่งแวดล้อม ดร.เรวดี อนุวัตนา นักวิจัย อาวุโส ร่วมต้อนรับ  ดร.ชญาน์ จันทวสุ  ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานบริหารความยั่งยืนและภาพลักษณ์องค์กร บริษัทพีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ จีซี และคณะผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ ในโอกาสเยี่ยมชมศึกษาดูงานเทคโนโลยีการคัดแยกขยะชุมชนของ วว. ในอาคารคัดแยกขยะชุมชน ต.ตาลเดี่ยว จ.สระบุรี โดยมีเป้าหมายในการดำเนินงานเพื่อเพิ่มสัดส่วนการรีไซเคิล จัดการขยะเก่า/ขยะใหม่ เพื่อสร้างรายได้และเกิดการจ้างงานให้กับชุมชน ร่วมทั้งเยี่ยมชมนวัตกรรมชุมชน  ซึ่งได้รับการถ่ายทอดและฝึกอบรมจาก วว.ได้แก่ ชอล์คไล่มด จากเปลือกไข่ ซึ่งจัดเป็นขยะอินทรีย์ซึ่งไม่มีมูลค่า เป็นต้น ณ ชุมชนหมู่ 10 ต. ตาลเดียว จ.สระบุรี

 

 

วว.ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับ บริษัทน้ำตาลขอนแก่น ” การส่งเสริมและพัฒนางานวิจัย วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม”

เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2562 ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการสถาบันวิจัย วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย(วว.) นายจำรูญ ชินธรรมนิตย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทน้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) หรือ KSL ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลง ความร่วมมือ “การส่งเสริมและพัฒนางานวิจัย วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม” โดยมี ดร. อาภารัตน์ มหาขันธ์ รองผู้ว่าการกลุ่มวิจัยและพัฒนาด้านพัฒนาอย่างยั่งยืน วว. พร้อมด้วยผู้บริหาร พนักงาน ของทั้งสองหน่วยงานร่วมเป็นเกียรติและประชุมหารือเพื่อหาแนวทางทางด้านงานวิจัยร่วมกันในอนาคต

 

 

วว. จัดสัมมนาเผยแพร่ผลงานวิจัยการผลิตเชื้อเพลิงอากาศยานชีวภาพเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์/ผลพลอยได้จากอุตสาหกรรมเอทานอล

เมื่อ วันที่ 29 พฤศจิกายน 2562  ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมพลังงานสะอาดและสิ่งแวดล้อม (ศนพ.) สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)  ร่วมกับภาควิชาเคมีเทคนิค คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดสัมมนาเผยแพร่ผลงานวิจัย “การผลิตเชื้อเพลิงอากาศยานชีวภาพและการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์และผลพลอยได้จากอุตสาหกรรมเอทานอล” ซึ่งเป็นองค์ความรู้ที่มาจาก “โครงการการพัฒนากระบวนการผลิตไบโอเจ็ทจากเอทานอลแบบต่อเนื่องด้วยไมโครเทคโนโลยี” ที่ วว. ได้รับเงินสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานประจำปี 2561 จัดสรรโดยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน โดยมี ดร. อาภารัตน์ มหาขันธ์ รองผู้ว่าการวิจัยและพัฒนา ด้านพัฒนาอย่างยั่งยืน วว. เป็นประธานเปิดงาน ดังกล่าว ณ ห้องแมนดาริน A โรงแรมเมนดาริน 

วว.ผนึกกำลัง พพ. จัดสัมมนาผลศึกษาโครงการพัฒนาเพิ่มผลผลิตเอทานอลจากหัวมันสำปะหลัง

วว.ผนึกกำลัง พพ. จัดสัมมนาผลศึกษาโครงการพัฒนาเพิ่มผลผลิตเอทานอลจากหัวมันสำปะหลัง เผยสามารถคัดเลือกเชื้อยีสต์ประสิทธิภาพสูงลดต้นทุนการหมัก เพิ่มกำลังการผลิต/ลดพลังงาน

วันนี้ (15 มีนาคม 2560 ห้องแมจิก 2 โรงแรมมิราเคิลแกรนด์คอนเวนชั่น) นางฉันทรา พูนศิริ รองผู้ว่าการวิจัยและพัฒนาด้านอุตสาหกรรมชีวภาพ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมด้วย นายประพนธ์ วงษ์ท่าเรือ อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ร่วมเป็นเกียรติในงานสัมมนาเพื่อเผยแพร่ผลการศึกษา “โครงการพัฒนาการเพิ่มผลผลิตเอทานอลจากหัวมันสำปะหลังสด/มันเส้น” ให้แก่บุคลากรของหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องด้านงานวิจัย การผลิต หรือการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพ ระบุผลการศึกษาสามารถคัดเลือกเชื้อยีสต์ประสิทธิภาพสูงที่ช่วยลดต้นทุนการหมัก เพิ่มกำลังการผลิตจากการพัฒนากระบวนการผลิตใหม่ และลดพลังงานจากการออกแบบและพัฒนาระบบการกู้คืนเอทานอลระหว่างการหมัก

รองผู้ว่าการวิจัยและพัฒนาด้านอุตสาหกรรมชีวภาพ วว. กล่าวว่า พพ. ได้ร่วมมือกับ วว. ภายใต้การสนับสนุนเงินทุนวิจัยจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน ในการทำวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มผลผลิตเอทานอลจากมันสำปะหลัง โดยทำการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีทั้งทางชีวภาพและทางกระบวนการผลิตเพื่อเพิ่มผลผลิตเอทานอลจากมันสำปะหลังในระดับห้องปฏิบัติการ ระดับกึ่งโรงงาน และวิเคราะห์ความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์สำหรับการดำเนินการในระดับโรงงานอุตสาหกรรม

“…ตามที่กระทรวงพลังงานได้จัดทำแผนบูรณาการพลังงานแห่งชาติ 5 แผนหลักในช่วงปี พ.ศ.2558–2579 ได้แก่ แผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า แผนอนุรักษ์พลังงาน แผนการจัดหาก๊าซธรรมชาติ แผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง และแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (Alternative Energy Development Plan : AEDP2015) ซึ่งแผน AEDP2015 จะให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการผลิตพลังงานจากวัตถุดิบพลังงานทดแทนที่มีอยู่ภายในประเทศให้ได้เต็มศักยภาพ รวมถึงการพัฒนาศักยภาพการผลิตพลังงานทดแทนด้วยเทคโนโลยีที่มีความเหมาะสม โดยแผน AEDP มีเป้าหมายการใช้เอทานอลที่ 11.3 ล้านลิตร/วัน ในปี พ.ศ.2579 ปัจจุบันประเทศไทยมีกำลังการผลิตเอทานอลที่ประมาณ 4.7 ล้านลิตร/วัน และมีการใช้เอทานอลประมาณ 3.7 ล้านลิตรต่อวันในปี 2559 สัดส่วนเอทานอลที่ผลิตมาจากกากน้ำตาล และเอทานอลที่ผลิตมาจากมันสำปะหลังคิดเป็น 67% ต่อ 33% …จากความสำคัญนี้ วว. และ พพ. จึงได้ดำเนินโครงการฯ ดังกล่าวร่วมกัน…” นางฉันทรา พูนศิริ กล่าวสรุป

สำหรับผลการศึกษาวิจัยโครงการฯ สรุปได้ ดังนี้ 1.ด้านการพัฒนาทางชีวภาพ สามารถคัดเลือกได้เชื้อยีสต์สายพันธุ์ Saccharomyces cerevisiae ที่มีศักยภาพจำนวน 3 สายพันธุ์ ซึ่งสามารถมีชีวิตรอดได้ในอุณหภูมิที่สูงถึง 41 ºC ทนเอทานอลได้มากกว่า 15% (v/v) และสามารถเจริญเติบโตได้ในสภาวะความเข้มข้นของน้ำตาลสูงได้ และเมื่อทำการเปรียบเทียบประสิทธิภาพการหมักเอทานอลกับเชื้อยีสต์ผงทางการค้า พบว่าเชื้อยีสต์ของโครงการฯ มีประสิทธิภาพเทียบเคียงกับเชื้อยีสต์ผงทางการค้า ทั้งนี้เชื้อยีสต์ผงทางการค้าในปัจจุบันยังคงต้องนำเข้าจากต่างประเทศและมีแนวโน้มที่จะปรับราคาสูงขึ้นทุกปี โดยเมื่อทำการศึกษาผลความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ ในกรณีที่ต้องการเปลี่ยนจากการใช้เชื้อยีสต์ผงทางการค้ามาเป็นเชื้อยีสต์สด MGT 1/1 ในโรงงานผลิตเอทานอลจากมันสำปะหลังเส้นที่มีกำลังการผลิต 150,000 ลิตรต่อวัน พบว่าสามารถลดต้นทุนการผลิตเอทานอลลงได้ 0.055 บาท/ลิตร (เทียบจากต้นทุน 21.53 บาทต่อลิตร)

2.ด้านการพัฒนาทางกระบวนการผลิต พบว่า ภายใต้เงื่อนไขที่เหมาะสม การใช้การหมักแบบ HG ร่วมกับยีสต์ของโครงการ จะทำให้สามารถเพิ่มกำลังการผลิตเอทานอลขึ้นได้อีกประมาณ 30% โดยที่ไม่ต้องทำการปรับเปลี่ยนอุปกรณ์หลักของโรงงานฯ คือสามารถเพิ่มจากกำลังการผลิตที่มีอยู่เดิม 150,000 ลิตรต่อวันเป็น 200,000 ลิตรต่อวัน ทั้งยังช่วยลดค่าพลังงานในการผลิตเอทานอลลง ทั้งนี้เนื่องจากเอทานอลในน้ำหมักที่ได้จากการหมักแบบ HG มีความเข้มข้นสูงกว่าการหมักแบบ NG จึงช่วยลดการใช้ไอน้ำในระบบการกลั่นเอทานอล และลดปริมาณน้ำเสียลงได้อีกด้วย อย่างไรก็ตามอาจมีค่าใช้จ่ายด้านพลังงานไฟฟ้าและซ่อมบำรุงเพิ่มขึ้นบ้างการใช้การหมักแบบ HG ร่วมกับยีสต์โครงการเพียงอย่างเดียว จะทำให้ได้ผลผลิตความเข้มข้นของเอทานอลในน้ำหมักเพิ่มขึ้นจาก 8-12% (v/v) เป็น 15-17% (v/v) และสามารถลดต้นทุนการผลิตเอทานอลลงได้ประมาณ 0.19 บาท/ลิตร นอกจากนี้การผลิตเอทานอลแบบ HG ยังช่วยลดปริมาณน้ำเสียหรือน้ำกากส่าลงได้ถึง 27%

3.โครงการได้ออกแบบและพัฒนาระบบการกู้คืนเอทานอลระหว่างการหมัก (In Situ Ethanol Recovery; ISER) ซึ่งสามารถดึงเอทานอลบางส่วนออกจากระบบระหว่างการหมักและลดสภาวะที่เป็นพิษต่อยีสต์ได้ โดยการใช้การหมักแบบ HG ร่วมกับยีสต์ MGT 1/1 และระบบการกู้คืนเอทานอลระหว่างกระบวนการหมัก (ISER) จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการหมักภายใต้สภาวะความเข้มข้นสูงได้ และช่วยลดค่าพลังงานในการกลั่นมากกว่าการใช้ระบบ HG เพียงอย่างเดียว ทั้งนี้การใช้ระบบการผลิตภายใต้สภาวะ HG ร่วมกับระบบ ISER และใช้เชื้อยีสต์ MGT 1/1 นั้นจะสามารถลดต้นทุนการผลิตเอทานอลลงได้ประมาณ 0.70 บาท/ลิตร นอกจากนี้การผลิตเอทานอลแบบ HG ร่วมกับระบบกู้คืน ISER ยังช่วยลดปริมาณน้ำเสียหรือน้ำกากส่าได้ถึง 29%

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์ความหลากหลายทางชีวภาพ วว. โทร. 0 25 577 9000 โทรสาร 0 2577 9009 หรือที่ E-mail : pr@tistr.or.th ในวันและเวลาราชการ