วานิลลาเป็นพืชวงศ์กล้วยไม้ (ORCHIDACEAE) ฝักเมื่อนำไปบ่มมีกลิ่นหอมของวานิลลิน มีถิ่นกำเนิดในประเทศเม็กซิโก และประเทศในแถบตะวันออกของทวีปอเมริกากลาง มีรายงานว่า มีมากถึงกว่า 200 สายพันธุ์ การกระจายพันธุ์อยู่ในเขตเส้นรุ้งที่ 20 องศาเหนือ-ใต้ของเส้นศูนย์สูตร สายพันธุ์ที่มีคุณค่าทางการค้ามีอยู่เพียง 3 สายพันธุ์คือ

  1. Vanilla planifolia (Andrews.)
  2. วานิลลอน Vanilla pompona
  3. วานิลลาตาฮิติ Vanilla tahaitensis

     ที่นิยมปลูกเป็นการค้ามากที่สุดคือ Vanilla planifolia (Andrews.) เรียกกันว่า วานิลลาพันธุ์การค้า

     ประเทศไทยมีวานิลลาพื้นเมืองขึ้นกระจายอยู่ 4 สายพันธุ์คือ

  1. พลูช้าง หรือตองผา Vanilla siamensis Rolfe ex Kownie
  2. เอาะลบ Vanilla albida Blume
  3. สามร้อยต่อใหญ่ หรือ งด Vanilla pilifera Holttum
  4. เถางูเขียว Vanilla aphylla Blume.

     ประเทศไทยรู้จักนำวานิลลาพันธุ์การค้าเข้ามาปลูกกว่า 30 ปีแล้ว โดยได้ปลูกทดลองในสถานีทดลองต่างๆของกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตร์และสหกรณ์

     สำหรับ มูลนิธิโครงการหลวงนั้น ได้ศึกษาทดลองการปลูกวานิลลาพันธุ์การค้ามาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 โดยสนับสนุนทุนวิจัยแก่นักวิชาการของสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ให้ศึกษาทดลองครั้งแรกที่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงป่าเมี่ยง ตำบลเทพเสด็จ อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ ซึ่งพบว่า มีการเจริญเติบโตของวานิลลาพื้นเมือง (พลูช้าง) Vanilla simensis Blumes. ขึ้นอยู่ในป่าธรรมชาติ จึงได้นำวานิลลาพันธุ์การค้า (Vanilla planifolia Andrews.) มาทดลองปลูกเพื่อศึกษาการเจริญเติบโต ภายใต้ร่มเงาต้นไม้ป่าธรรมชาติ และซาแรนพรางแสง 50 – 70 เปอร์เซ็นต์ พบว่าสามารถเจริญเติบโตได้ดีและสามารถให้ดอกในปีที่ 3 ของการปลูกด้วยต้นกล้าจากการปักชำต้น และจะออกดอกประมาณปลายเดือนมีนาคม ถึง เมษายน โดยจะเร็วกว่าสายพันธุ์พื้นเมืองประมาณ 1 เดือน เนื่องจากวานิลลาเป็นพืชเลื้อยสามารถมีอายุข้ามปีได้หลายปี จึงมีการศึกษาถึงวัสดุที่ใช้ทำค้างเกาะ ทั้งค้างมีชีวิต คือ ต้นไม้ที่ใบสามารถพรางแสงได้ 50 – 70 เปอร์เซ็นต์ (ต้น Facultalia ซึ่งเป็นพืชตระกูลถั่ว) และค้างเกาะซีเมนต์ พบว่าการใช้ค้างซีเมนต์น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีทีสุดในการปลูกวานิลลาเชิงการค้า นอกจากนี้การเปรียบเทียบการใช้วัสดุคลุมดินด้วยกาบมะพร้าวสับ พืชตระกูลถั่ว และหญ้า นั้นไม่พบความแตกต่างในการเจริญเติบโตของวานิลลา

     สำหรับการศึกษาการบ่มฝักวานิลลาพบว่าการประยุกต์วิธีการบ่มฝักของประเทศมาดากาสก้าร์โดยผ่านกระบวนการบ่มหลักๆ 4 ขั้นตอน คือ

  1. Killing
  2. Sweating
  3. Slow drying
  4. Conditioning

     สามารถทำให้ฝักวานิลลามีกลิ่นหอม สีของฝักเป็นสีช็อคโกเล็ตเข้ม ฝักมีความนุ่ม ความชื้นประมาณ 30-40 เปอร์เซนต์ เมื่อนำไปวิเคราะห์ปริมาณสารวานิลลิน พบว่ามีประมาณ 2.21 เปอร์เซ็นต์ ทัดเทียมกับต่างประเทศ ที่ผิวฝักพบผลึกสีขาวใสของวานิลลิน หรือเรียกกันว่า frost เกาะอยู่ ซึ่งบางประเทศใช้เป็นตัวบ่งบอกถึงคุณภาพฝักวานิลลาที่ดี

     ในปี 2549 ได้มีการศึกษาทดลองปลูกในโรงเรือนพลาสติกที่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงขุนวาง ต.แม่วิน อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่ ระดับความสูง 1,200 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล พบวาสามารถให้ผลผลิตสูง และให้ผลผลิตต่อเนื่องทุกปี ฝักที่บ่มมีปริมาณสารวานิลลิน สูงถึงประมาณ 2.40 เปอร์เซ็นต์ แต่การสุกแก่ของฝักจะประมาณ 12 เดือน ซึ่งนานกว่าที่ศูนย์ป่าเมี่ยงประมาณ 2 เดือน ทำให้คาบเกี่ยวกับการออกดอกรุ่นใหม่ประมาณปลายเดือนกุมภาพันธุ์ ทำให้ไม่สามารถตัดแต่งทรงต้นหลังเก็บเกี่ยวได้

     จากการศึกษาดังกล่าว มูลนิธิโครงการหลวงได้ขยายผลการวิจัยสู่การผลิตเชิงการค้าโดยส่งเสริมให้เกษตรกรบนพื้นที่สูง 8 ราย ปลูกในระบบโรงเรือนพลาสติก ผ่านการสนับสนุนงบประมาณบางส่วนจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ และเกษตรกร 4 รายปลูกในระบบโรงเรือนพรางแสงที่ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงม่อนเงาะ อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่

    สำหรับผลผลิตจากการศึกษาทดลองวานิลลานั้นได้ส่งจำหน่ายในรูปฝักวานิลลาบ่มผ่านฝ่ายตลาดของมูลนิธิโครงการหลวง และทดลองผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ในเมนูอาหาร เช่น น้ำเชื่อมวานิลลา น้ำเลมอนผสมวานิลลา และฟักทองวานิลลา ที่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงขุนวาง ภายใต้แนวคิดว่าการส่งเสริมให้เกษตรกรได้ผลิตมากขึ้นจะทำให้มีผลผลิตฝักวานิลลาบ่มที่ผ่านกระบวนการบ่มที่ได้มาตรฐานเพิ่มขึ้นต่อไป โดยได้ขยายงานการส่งเสริมและพัฒนาการผลิตไปยังศูนย์ต่างๆ ได้แก่ ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงขุนวาง (เป็นศูนย์เรียนรู้ศึกษาการผลิตวานิลลา) ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงป่าเมี่ยง ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงตีนตก ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงม่อนเงาะ และพื้นที่ขยายผลโครงการหลวง บ้านโป่งคำ ต.ดู่พงษ์ อ.สันติสุข จ.น่าน เป็นต้น

    ทั้งนี้ การศึกษาวิจัยเพื่อลดระยะเวลาการบ่มฝัก หรือ การพัฒนาสายพันธุ์ที่ต้านทานโรคเน่าจากเชื้อรา และพัฒนาสายพันธุ์ที่สามารถให้ดอกผสมตัวเองได้โดยไม่ต้องใช้แรงงานคนช่วยผสมดอก นับว่ามีความจำเป็นในการปลูกวานิลลาเชิงการค้าของประเทศไทยและของโลก