เนื่องจากชีวิตประจำวันถ้าไม่ประชุม ไม่ขับรถเดินทาง ก็มักจะนั่งอยู่หน้าเครื่องคอมพิวเตอร์เสมอ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องหาช่องทางในการติดต่อสื่อสารที่สามารถติดต่อได้สะดวกทุกที่ทุกเวลา และสามารถสื่อสารได้พร้อม ๆ กันหลายคน ก่อนหน้านี้นิยมใช้งานเอ็มเอสเอ็น (MSN Messenger) หรือ ไลฟ์แมสเซนเจอร์ (Windows Live Messenger) เป็นอันมาก จนกระทั่งช่วงปีที่แล้วประสบปัญหาไม่สามารถใช้งานได้ทุกที่อันเป็นผลมาจากระบบเครือข่ายสื่อสาร (Network) ทำให้ต้องหาทางติดต่อสื่อสารผ่านระบบเครือข่ายด้วยสื่ออื่น ๆ ครั้นจะไปใช้สไคพ์ (Skype) หรือไอซีคิว (ICQ) ก็ติดตรงที่เพื่อนฝูงไม่นิยมใช้ ประกอบกับกระแสของการใช้ทวิตเตอร์ (Twitter) และเฟสบุค (Facebook) ที่มาแรง ทำให้ผู้เขียนเปลี่ยนวิธีการติดต่อสื่อสารหันไปใช้ทวิตเตอร์ (Twitter) และเฟสบุค (Facebook) แทน

สำหรับ สไคฟ์ นั้นเป็น โปรแกรมที่มีลักษณะการใช้งานเหมือนเอ็มเอสเอ็น และเด่นในเรื่องการใช้เว็บคอนเฟอเรนซ์ (Web Conference) เนื่องจากกินทรัพยากรเครื่อง (resource) น้อย

ทวิตเตอร์  มีลักษณะการทำงานเหมือนการส่งเอสเอ็มเอส (SMS) ออนไลน์ เราสามารถพิมพ์ข้อความ แนบรูปภาพ หรือ แนบ URL ที่เชื่อมโยงไปยังเว็บไซต์ต่าง ๆ ให้คนที่เราให้สิทธิในการเข้าถึงได้รับรู้ รวมทั้งเปิดโอกาสให้สามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ ร่วมกับเรา ซึ่งในแต่ละครั้งจะสามารถพิมพ์ข้อความได้ความยาวไม่เกิน 140 ตัวอักษร

ส่วน เฟสบุค นั้น จะมีลักษณะการทำงานเหมือนกับพวกไฮไฟว์ (Hi5) หรือ มายสเปซ (mySpace) เพียงแต่หน้าตาสะอาดสะอ้าน และเด่นในเรื่องของแอพพลิเคชั่นและเกมส์ออนไลน์ ซึ่งถือว่าเป็นกลยุทธ์สำคัญที่สร้างความเติบโตอย่างรวดเร็วของสังคมเครือข่ายเฟสบุค นั่นคือ ยิ่งเพื่อนมาก ก็ยิ่งทำให้ระดับในการเล่นเกมส์สูงขึ้น ได้เงินและสิ่งของที่ใช้ในเกมส์เพิ่มขึ้น

ซึ่งหลังจากลองเล่นได้สักพัก ก็ประสบปัญหาความไม่สะดวกในการใช้ทวิตเตอร์และเฟสบุคผ่านทางหน้าเว็บ ก็ได้คำแนะนำจากกูรูต่าง ๆ ผ่านทวิตเตอร์ ให้ลองใช้โปรแกรมหรือเครื่องมือช่วยอื่น ๆ เพื่อเพิ่มความสะดวกสบายในการใช้งาน ซึ่งหลังจากการทดสอบการใช้งานสามารถสรุปจุดเด่นและจุดด้อยได้ดังนี้

เครื่องมือ

จุดเด่น

จุดด้อย

Tweetdeck

http://www.tweetdeck.com/

สะดวกในการใช้งานและเรียกดูข้อมูล เพราะแสดงผลในลักษณะของคอลัมน์ ทำให้สามารถเรียกดูและปรับปรุงข้อมูลจากทวิตเตอร์ เฟสบุค และมายสเปซ ได้ในเวลาเดียวกัน รองรับการ Retweet การปรับแต่งแก้ไขข้อมูลเวลา Retweet และการเรียกดู DM (Direct Message) และ List ของทวิตเตอร์ ใช้ทรัพยากรในการประมวลผลเยอะ เพราะต้องเปิดหน้าต่างเต็มหน้าจอ
Twhirl

http://www.twhirl.org/

สามารถเปิดใช้งานทวิตเตอร์ได้พร้อม ๆ กันหลายบัญชีรายชื่อ โดยแต่ละรายชื่อจะแสดงผลในลักษณะหน้าต่างเล็ก ๆ แยกจากกัน ไม่รองรับการเรียกดู  List ของทวิตเตอร์
Echofon

http://echofon.com/(ทำงานบนเว็บเบราว์เซอร์ไฟร์ฟอกซ์ (Firefox))

สามารถเรียกดูและปรับปรุงข้อมูลจากทวิตเตอร์ ได้หลายบัญชีรายชื่อ แต่ทำงานในลักษณะสลับไปมา ไม่รองรับการ Retweet และการเรียกดู DM (Direct Message) และ List ของทวิตเตอร์
Yoono

http://yoono.com/(ทำงานบนเว็บเบราว์เซอร์ไฟร์ฟอกซ์ (Firefox))

สามารถเรียกดูและปรับปรุงข้อมูลจากทวิตเตอร์ เฟสบุค มายสเปซ เอ็มเอสเอ็น และอื่น ๆ ได้ในเวลาเดียวกัน รองรับการ Retweet และการเรียกดู DM (Direct Message) และ List ของทวิตเตอร์ การทำงานจะช้ากว่าการทำงานโดยใช้โปรแกรม Echofon ไม่รองรับการใช้งานหลายบัญชีรายชื่อ และไม่รองรับการปรับแต่งแก้ไขข้อมูลเวลา Retweet

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ผู้ใช้ต้องตระหนักถึงในการใช้พวกเครือข่ายสังคม (Social Network) ก็คือ สิทธิในการเข้าถึงข้อมูลนั้น หากเราไม่กำหนดให้เป็นส่วนตัว หรือ private แล้ว ทุกคนจากทุกมุมโลกที่เข้าใจภาษาที่เราพิมพ์จะสามารถเห็น รับทราบ และนำข้อมูลของเราที่ได้เผยแพร่ออกไปนั้น ไปใช้หรืออ้างอิงได้ตามความต้องการของเขาได้โดยที่เราไม่รู้ตัว