ปัจจุบันข้อมูลสารสนเทศเปรียบเสมือนสินทรัพย์ที่มีมูลค่าและบทบาทสำคัญต่อการบริหารจัดการองค์กร ดังนั้นองค์กรต่างๆจึงเริ่มตระหนักถึงการปกป้องรักษาข้อมูลสารสนเทศที่สำคัญๆ อันนำมาซึ่งความท้าทายในการบริหารความมั่นคงปลอดภัยสำหรับสารสนเทศอย่างเป็นมาตรฐาน และมีประสิทธิภาพคุ้มค่ากับการลงทุน เพื่อให้ผู้ใช้ข้อมูลสารสนเทศมีความเชื่อมั่นว่าข้อมูลสารสนเทศดังกล่าวมีความปลอดภัยตามหลักของ C I A ซึ่งประกอบด้วย มีกระบวนการรักษาความลับที่เหมาะสม ผู้มีสิทธิเท่านั้นถึงจะเข้าถึงได้ (C : Confidentiality) มีความสมบูรณ์ถูกต้องของเนื้อหาสาระ (I : Integrity) และมีความพร้อมใช้งานอยู่เสมอ ผู้ใช้สามารถเข้าถึงข้อมูลเมื่อต้องการได้ทุกเวลา (A : Availability) โดยเฉพาะในโอกาสที่ประเทศไทยจะก้าวไปสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2015 (ASEAN Community 2015) องค์กรต่างๆในประเทศไทยจึงจำเป็นต้องเริ่มตระหนักถึงความสำคัญในการบริหารจัดการความมั่นคงปลอดภัยสำหรับสารสนเทศ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริหาร พนักงาน ลูกค้า และคู่ค้า ว่าสารสนเทศขององค์กรจะมีคุณสมบัติครบตามหลัก C I A

390509_2790834165560_921662489_n

ในปีที่ผ่านมา ผู้เขียนได้มีโอกาสรับการสนับสนุนจาก องค์การเพิ่มผลผลิตแห่งเอเชีย หรือ Asian Productivity Organization (APO) ในการเข้าร่วมโครงการ Training Course on the Information Security Management System: ISO 27000 Series ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้การฝึกอบรมเชิงลึกเกี่ยวกับการประยุกต์ใช้ระบบการจัดการตามระบบคุณภาพ ISO 27000 อันเป็นมาตรฐานของระบบคุณภาพที่ใช้ในการบริหารความมั่นคงปลอดภัยสำหรับสารสนเทศ หรือ Information Security Management (ISM) และเตรียมความพร้อมให้ผู้ร่วมโครงการที่มาจากประเทศสมาชิกต่างๆดังกล่าวสามารถเป็นผู้นำการประเมินและการปฏิบัติงานตามมาตรฐาน ISO 27000 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ผู้เขียนมีความเข้าใจถึงความสำคัญและการประยุกต์ใช้ระบบคุณภาพตามมาตรฐาน ISO 27000 ยิ่งขึ้น ด้วยเหตุนี้ผู้เขียนจึงอยากนำความรู้และประสบการณ์ที่ได้ มาแลกเปลี่ยนแบ่งปันกับผู้อ่านเพื่อให้ทุกท่านได้ตระหนักถึงการรักษาความมั่นคงปลอดภัยสำหรับสารสนเทศและสามารถนำไปประยุกต์ให้เกิดประโยชน์ต่อตนเองและองค์กรได้ต่อไป

ระบบบริหารจัดการความมั่นคงปลอดภัยสำหรับสารสนเทศ หรือ Information Security Management System (ISMS) นั้น คือ ระบบหรือกระบวนการที่ใช้ในการบริหารจัดการสารสนเทศที่มีความสำคัญขององค์กรให้มีความมั่นคงปลอดภัยตามหลัก C I A ซึ่งมีแนวทางการปฏิบัติตามขั้นตอนของกระบวนการดังนี้

เริ่มตั้งแต่ทำการวิเคราะห์และประเมินความเสี่ยงเพื่อทำให้ทราบว่าสารสนเทศใดที่มีความสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจขององค์กร โอกาสที่จะเกิดความเสี่ยงและความเสียหายอันส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจขององค์กรจากภัยคุกคามทั้งภายในภายนอกกับสารสนเทศนั้นมากน้อยแค่ไหน มีวิธีการบริหารจัดการในการป้องกันความเสี่ยงดังกล่าวอย่างไร โดยจำเป็นต้องจัดลำดับความสำคัญของความเสี่ยงทั้งหมดที่พบ และพิจารณาว่าสิ่งใดจำเป็นต้องรีบบริหารจัดการก่อนและหลัง จากนั้นจึงดำเนินการตามวงจร P (Plan หรือ การวางแผน) D (Do หรือ การประยุกต์ใช้หรือการดำเนินการ) C (Check หรือ การตรวจสอบ) A (Action หรือ การบำรุงรักษาหรือการปรับปรุง) โดยเริ่มจากทำการออกแบบระบบบริหารจัดการ ซึ่งในที่นี้หมายถึงกระบวนการที่เปรียบเสมือนเป็นเครื่องมือในการรักษาความมั่นคงปลอดภัย แต่ไม่ได้หมายรวมเพียงแค่การนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาสนับสนุนเท่านั้น ยังหมายรวมถึงการพัฒนาขั้นตอนปฏิบัติหรือการนำขั้นตอนปฏิบัติที่มีอยู่เดิมมาปรับปรุงเพื่อให้เกิดกระบวนการป้องกันและรักษาความมั่นคงปลอดภัยของสารสนเทศที่ใช้ในการดำเนินธุรกิจขององค์กรอย่างเหมาะสม โดยหลังจากที่ได้ระบบที่ต้องการแล้วก็ทำการดำเนินการตามระบบที่ได้วางแผนไว้ จากนั้นทำการตรวจสอบการดำเนินงานว่ามีการดำเนินงานครบถ้วนตามวัตถุประสงค์และแผนที่วางไว้หรือไม่ และยังมีจุดอ่อนอยู่ที่จุดใด อย่างไร เมื่อได้ข้อมูลครบถ้วนแล้วก็นำมาพิจารณาทำการบำรุงรักษากระบวนการเดิมที่มีประสิทธิภาพเหมาะสมเพียงพอ และทำการปรับปรุงกระบวนการที่ยังมีจุดอ่อนให้ดีขึ้น เพื่อทำให้ระบบบริหารจัดการที่ประยุกต์ใช้ในองค์กรนั้นมีคุณภาพ ทันสมัย และเหมาะสมอยู่เสมอ

สำหรับระบบการจัดการตามระบบคุณภาพ ISO/IEC 27000 อันเป็นมาตรฐานของระบบคุณภาพที่ใช้ในการบริหารความมั่นคงปลอดภัยสำหรับสารสนเทศ หรือ Information Security Management (ISM) นั้นประกอบด้วยมาตรฐานย่อยอื่นๆดังนี้

  1. ISO/IEC 27000 : 2008 ว่าด้วย ภาพรวมและคำศัพท์ต่างๆที่ใช้ในมาตรฐาน
  2. ISO/IEC 27001 : 2005 ว่าด้วย ความต้องการตามมาตรฐาน ว่าสิ่งที่จำเป็นต้องดำเนินการนั้นมีเรื่องใดบ้าง
  3. ISO/IEC 27002  ว่าด้วย เกณฑ์มาตรฐานในการปฏิบัติ ว่าควรปฏิบัติอย่างไรเพื่อให้เป็นไปตามความต้องการของมาตรฐาน สิ่งใดที่จำเป็นต้องมี และต้องมีในระดับไหน
  4. ISO/IEC 27003 : 2009  ว่าด้วย แนวทางการดำเนินงานตามมาตรฐาน
  5. ISO/IEC 27004  ว่าด้วย การวัดประเมินตามมาตรฐาน
  6. ISO/IEC 27005 : 2008 ว่าด้วย การบริหารความเสี่ยงตามมาตรฐาน
  7. ISO/IEC 27006 : 2008 ว่าด้วย แนวทางการปฏิบัติเพื่อให้ได้รับการรับรองตามมาตรฐาน
  8. ISO/IEC 27007 ว่าด้วย แนวทางการตรวจประเมินตามมาตรฐานของผู้ตรวจประเมิน

แต่โดยทั่วไปหากพูดถึงมาตรฐานการบริหารความมั่นคงปลอดภัยสำหรับสารสนเทศ เราก็จะไปให้ความสนใจกับความต้องการตามมาตรฐาน แล้วเรียกรวมๆว่า ISO 27001 นั่นเอง ซึ่งสิ่งที่ขาดไม่ได้เมื่อต้องการจะประยุกต์ใช้ระบบคุณภาพตามมาตรฐาน ISO 27000 ในองค์กร ก็คือองค์กรต้องมีการดำเนินการดังต่อไปนี้

  • จัดทำนโยบายระบบบริหารความมั่นคงปลอดภัยสำหรับสารสนเทศ (ISMS)
  • กำหนดขอบเขตของระบบบริหารความมั่นคงปลอดภัยสำหรับสารสนเทศ (ISMS)
  • จัดทำขั้นตอนและการควบคุมในการสนับสนุนระบบบริหารความมั่นคงปลอดภัยสำหรับสารสนเทศ (ISMS)
  • เลือกและจัดทำวิธีการประเมินความเสี่ยง
  • จัดทำรายงานการประเมินความเสี่ยง
  • จัดทำแผนการรักษาความเสี่ยงขั้นตอนการบันทึกตามระบบบริหารความมั่นคงปลอดภัยสำหรับสารสนเทศ (ISMS)
  • จัดทำบันทึกในระบบบริหารความมั่นคงปลอดภัยสำหรับสารสนเทศ (ISMS)
  • จัดทำ Statement of Applicability (SoA) หรือ เอกสารแสดงมาตรการในมาตรฐาน ISO/IEC 27001 ที่องค์กรได้มีการนำมาใช้งานและเหตุผลของการใช้ รวมทั้งมาตรการที่ไม่ได้นำมาใช้งานและเหตุผลที่ไม่ได้ใช้งาน

โดยการดำเนินการดังกล่าวต้องครอบคลุมหัวข้อหลัก (Domain) ที่จำเป็นในการปฏิบัติตามเกณฑ์มาตรฐานระบบคุณภาพ ISO 27001 ซึ่งมีอยู่ทั้งหมด 11 หัวข้อหลัก คือ

  • Domain ที่ 1 ในมาตรฐานคือหมวด A5 เป็นหัวข้อที่ว่าด้วยเรื่อง Security Policy หรือ นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยสำหรับสารสนเทศขององค์กร
  • Domain ที่ 2 ในมาตรฐานคือหมวด A6 เป็นหัวข้อที่ว่าด้วยเรื่อง Organization  of Information Security หรือ โครงสร้างพื้นฐานด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยสำหรับสารสนเทศขององค์กร
  • Domain ที่ 3 ในมาตรฐานคือหมวด A7 เป็นหัวข้อที่ว่าด้วยเรื่อง Asset Management หรือ การบริหารจัดการสินทรัพย์ที่เกี่ยวกับสารสนเทศขององค์กร
  • Domain ที่ 4 ในมาตรฐานคือหมวด A8 เป็นหัวข้อที่ว่าด้วยเรื่อง Human Resource Security หรือ การรักษาความมั่นคงปลอดภัยด้านทรัพยากรบุคคลที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงปลอดภัยสำหรับสารสนเทศ
  • Domain ที่ 5 ในมาตรฐานคือหมวด A9 เป็นหัวข้อที่ว่าด้วยเรื่อง Physical & Environmental Security หรือ การรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางกายภาพที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงปลอดภัยสำหรับสารสนเทศ
  • Domain ที่ 6 ในมาตรฐานคือหมวด A10 เป็นหัวข้อที่ว่าด้วยเรื่อง Communications & Operations Management หรือ การบริหารจัดการเรื่องการสื่อสารและการปฏิบัติงานที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงปลอดภัยสำหรับสารสนเทศ
  • Domain ที่ 7 ในมาตรฐานคือหมวด A11 เป็นหัวข้อที่ว่าด้วยเรื่อง Access Control หรือ การควบคุมการเข้าถึงข้อมูลสารสนเทศ
  • Domain ที่ 8 ในมาตรฐานคือหมวด A12 เป็นหัวข้อที่ว่าด้วยเรื่อง Information Systems Acquisition Development & Maintenance หรือ การพัฒนาและการบำรุงรักษาระบบสารสนเทศ
  • Domain ที่ 9 ในมาตรฐานคือหมวด A13 เป็นหัวข้อที่ว่าด้วยเรื่อง Information Security Incident Management หรือ การบริหารการเตรียมความพร้อมเพื่อรับเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันที่อาจเกิดขึ้นกับระบบสารสนเทศ
  • Domain ที่ 10 ในมาตรฐานคือหมวด A14 เป็นหัวข้อที่ว่าด้วยเรื่อง Business Continuity Management  หรือ การบริหารการดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่อง
  • Domain ที่ 11 ในมาตรฐานคือหมวด A15 เป็นหัวข้อที่ว่าด้วยเรื่อง Compliance หรือ การปฏิบัติตามกฏระเบียบข้อบังคับ

ทั้งนี้ในแต่ละหัวข้อหลัก หรือ Domain จะประกอบไปด้วย วัตถุประสงค์ของการควบคุมตามเกณฑ์มาตรฐาน หรือ Control Objectives และในแต่ละ Control Objectives จะประกอบไปด้วย ตัวควบคุมตามเกณฑ์มาตรฐาน หรือ Controls  ดังนั้นใน เกณฑ์มาตรฐานระบบคุณภาพ ISO 27001 ซึ่งประกอบด้วย Domain ทั้งหมด 11 หัวข้อ จะมี Control Objectives ทั้งหมด 39 ข้อ และมี Controls ทั้งหมด 133 ข้อ  อย่างไรก็ตามองค์กรไม่จำเป็นต้องมีการดำเนินงานตาม Control Objectives ทั้งหมด 39 ข้อ และไม่จำเป็นต้องมีการดำเนินงานตาม Controls ทั้งหมด 133 ข้อ  เนื่องจากทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับ ลักษณะภารกิจ และ การวิเคราะห์ผลกระทบทางธุรกิจ หรือ  Business Impact Analysis : BIA ของแต่ละองค์กรนั่นเอง