ผู้เขียนได้มีโอกาสร่วมประเมินโครงการวิจัยพัฒนากับ ดร.เสริมพล รัตสุข, อ.อัครพงศ์ ผ่องสุวรรณ, Innovation Developer จาก สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) และ ผู้เชี่ยวชาญ จาก สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ทำให้ได้รับความรู้ในเรื่องของมุมมองในการคิดงานวิจัยพัฒนาเพื่อสร้างนวัตกรรมที่ผลผลิตสามารถนำไปต่อยอดเชิงพาณิชย์ได้อย่างเป็นรูปธรรม จึงขอนำความรู้ดังกล่าวมาแบ่งปันเพื่อนักวิจัยรุ่นใหม่และผู้ที่กำลังคิดสร้างนวัตกรรมสามารถกำหนดเป้าหมายและทิศทางในการดำเนินงานได้อย่างเหมาะสม

       ก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจถึงความแตกต่างระหว่าง นวัตกรรม กับ สิ่งประดิษฐ์ ในมุมมองของการตลาดอย่างง่ายๆกันดีกว่า

       นวัตกรรม (Innovation) คือ การสร้างสิ่งใหม่ที่ขายได้ ถ้าขายไม่ได้ ถือว่าเป็นแค่ การประดิษฐ์ (Invention)

       นวัตกรรมที่น่าสนใจในมุมมองของการตลาดจำเป็นต้องตอบโจทย์ในประเด็นดังนี้

  • Fixing Pain Point คือ การแก้ปัญหา หรือข้อจำกัด ที่ผู้ใช้ได้รับจากบริการหรือผลิตภัณฑ์ ซึ่งทำให้ยังไม่รู้สึกพอใจหรือได้ประโยชน์สูงสุดตามที่ได้ลงทุนไป
  • Market Impact คือ ผลที่ได้เมื่อเรานำสิ่งที่เราคิดไปจัดจำหน่ายในท้องตลาด เช่น เป็นสิ่งใหม่ที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อนและน่าสนใจจนสร้างรายได้ให้แก่ผู้ผลิตหรือผู้ให้บริการนวัตกรรมนั้นๆ ตอบโจทย์ความต้องการของตลาด ลงทุนน้อยกว่าคู่แข่ง ราคาถูกกว่าคู่แข่ง มีคุณค่าที่แตกต่างจากคู่แข่ง
  • Disrupt Industry คือ การเปลี่ยนมุมมองการผลิตและการบริการที่ออกนอกกรอบกฏเกณฑ์ที่มีอยู่ทั่วไปในท้องตลาด หรือ อุตสาหกรรม จนสามารถสร้างพื้นที่ใหม่ของผลิตภัณฑ์และบริการ ในฐานะของการเป็นเจ้าแรกที่มีความแตกต่างจากของเดิมที่มีอยู่ในท้องตลาดเพื่อตอบโจทย์ในเรื่องเดียวกัน ทั้งนี้แนวความคิดที่เรียกว่า Disruption นั้นจะไม่มีกฏเกณฑ์ที่ตายตัว สามารถเปลี่ยนได้ตลอดเวลาตามสภาพแวดล้อมและบริบทที่เปลี่ยนไป

       จากนั้น เพื่อให้ได้มาซึ่งแหล่งเงินทุนสนับสนุนในการดำเนินการ หัวใจสำคัญของข้อเสนอโครงการที่ดี อย่างน้อยต้องประกอบด้วย

  • ชื่อโครงการ ที่แสดงให้เห็นว่า เมื่อดำเนินโครงการเสร็จสิ้นแล้ว อะไรคือนวัตกรรมที่จะได้ โดยสามารถตอบโจทย์ในประเด็นดังกล่าวข้างต้น ทั้งนี้การจะได้มานั้นซึ่งนวัตกรรมที่เราต้องการจะสร้างนั้น เราจำเป็นต้องศึกษา ค้นคว้า ข้อมูลผลิตภัณฑ์และบริการที่มีอยู่ในท้องตลาด รวมถึงงานวิจัยทั้งที่ดำเนินการแล้วเสร็จ ที่กำลังดำเนินการอยู่ และที่มีการวางแผนจะดำเนินการ ไม่ใช่แค่เพียงเฉพาะแค่ในประเทศแต่ต้องรวมถึงที่มีในต่างประเทศด้วย เพื่อจะได้เกิดความแน่ใจว่าสิ่งที่เราคิดจะสร้างนั้น มีใครทำแล้วหรือคิดเหมือนเราไหม ถ้าเหมือนก็ไม่ควรที่จะทำ ถ้าต่างเราก็ต้องตอบได้ว่าต่างกันตรงไหน ระหว่างเรากับเขาใครดีกว่ากัน ถ้าดีกว่าก็ลุย
  • มีการระบุกลุ่มลูกค้า หรือ ผู้ได้รับผลประโยชน์ จากโครงการที่ชัดเจน ยิ่งถ้าสามารถแสดงให้เห็นว่ามีคนรอใช้ผลผลิตของโครงการเราอยู่จำนวนไม่น้อย โอกาสที่ข้อเสนอโครงการจะผ่านก็ยิ่งมีมาก
  • มีแผนและงบประมาณที่ใช้ในการดำเนินโครงการที่ครอบคลุมทุกกิจกรรม รวมทั้งมีระยะเวลาในการดำเนินงานที่เหมาะสม สิ่งสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม คือ การศึกษา กฏระเบียบ ข้อกำหนด และมาตรฐานต่างๆที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมที่เราจะดำเนินการ เช่น ถ้าจะทำเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพสักชนิด เราจำเป็นต้องรู้ว่าการที่เราจะผลิตออกขายในท้องตลาดได้นั้น เราต้องได้รับการรับรองหรืออนุญาตจากใครบ้าง และระยะเวลาตลอดจนค่าใช้จ่ายในการขอการรับรองและการอนุญาตนั้นมากน้อยแค่ไหน เพื่อจะทำให้เราสามารถกำหนดกรอบระยะเวลาดำเนินการและงบประมาณที่ต้องใช้ได้อย่างครบถ้วนเหมาะสม
  • มีแบบจำลองธุรกิจ หรือ Business Model  ที่แสดงให้เห็นว่า ผลของโครงการจะสามารถทำเงินให้กับลูกค้า หรือ ผู้ได้รับผลประโยชน์จากโครงการ อย่างไร โดยแสดงให้เห็นวิธีการ ทรัพยากรที่จำเป็นต้องใช้ และต้นทุนในการดำเนินงานในโครงการนั้นๆประกอบด้วย
  • ระยะเวลาการคืนทุนไม่ควรเกิน 2 ปีครึ่ง

       เพียงแค่นี้ ไม่ยากใช่ไหมคะที่เราจะคิดสร้างนวัตกรรม และทำข้อเสนอโครงการเพื่อขอทุนสนับสนุนในการดำเนินงาน มาร่วมกันสร้างนวัตกรรมที่มี Impact กันเถอะค่ะ