นายฉาดเฉลียว บุนนาค ผู้เชี่ยวชาญด้านดับเพลิงและผจญเพลิง ได้ให้ความรู้ว่า การเผายางรถยนต์ส่งผลกระทบในเรื่องสภาพอากาศอย่างเห็นได้ชัด เพราะการเผาไหม้ของยางรถยนต์จะใช้เวลาในการเผานานกว่าเชื้อเพลิงอย่างอื่นหลายเท่า อีกทั้งเขม่าควันจากยางรถยนต์จะเห็นได้ชัดว่าเป็นกลุ่มควันสีดำลอยไปตามอากาศ ซึ่งหากสูดดมเข้าไปย่อมทำให้เกิดผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจ เช่น ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์จากการเผา (Carbon monoxide : CO) เมื่อหายใจเอาก๊าซดังกล่าวเข้าไปแล้ว ก๊าซจะรวมตัวกับฮีโมโกลบิน (Haemoglobin) ในเม็ดเลือดแดงได้มากกว่าออกซิเจนถึง 200-250 เท่า เกิดเป็นคาร์บอกซีฮีโมโกลบิน (Carboxyhaemoglobin : CoHb) ซึ่งลดความสามารถของเลือดในการเป็นตัวนำออกซิเจนจากปอดไปยังเนื้อเยื่อต่างๆ ของร่างกาย หรือทำให้ออกซิเจนในเลือดน้อยลง ส่งผลให้ผู้ที่หายใจเข้าไปมีอาการหายใจขัดและอึดอัดเป็นอันตรายต่อสุขภาพอย่างมาก ดังนั้น ประชาชนที่อยู่บริเวณใกล้เคียงจึงควรหลีกเลี่ยงการสูดดมเขม่าควันดังกล่าวเข้าสู่ร่างกาย โดยไม่ควรอยู่ใต้ลม

ทั้งนี้วิธีป้องกันของประชาชนคือ หากอยู่ในจุดที่ดับไฟจากการเผายางได้ แนะนำให้ใช้วิธีเขี่ยยางที่สุมกันอยู่หลายวงออกมาทีละเส้น ให้วางยางในลักษณะแนวราบ จากนั้นใช้น้ำดับโดยราดน้ำไปรอบๆ ยางเพียงไม่กี่ขันก็สามารถดับไฟได้ หรือใช้โฟมฉีดไปรอบๆ ยางรถยนต์ก็ดับไฟได้เช่นกัน

ด้าน รศ.ดร.ศิริรัตน์ จิตการค้า วิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกมาให้ความรู้ถึงอันตรายจากการเผายางรถยนต์ว่า ยางรถยนต์ มีไฮโดรคาร์บอน ซึ่งเป็นองค์ประกอบประเภทเดียวกับสารประกอบในน้ำมันนั้น เป็นองค์ประกอบอยู่ถึง 50-60% ซึ่งแฝงตัวอยู่ในรูปของยางที่เป็นวัตถุดิบ จึงถือเป็นแหล่งพลังงานแหล่งใหญ่เลยทีเดียว

“การเผายางรถยนต์ 1 เส้น จะให้ความร้อนออกมามากกว่าการเผาน้ำมันทั่วไปที่มีน้ำหนักเท่ากันถึง 1.25 เท่า พูดง่ายๆ คือ น้ำมันติดไฟง่ายกว่า แต่ปลดปล่อยความร้อนออกมาน้อยกว่า แต่น้ำมันลุกลามได้ไวกว่า เนื่องจากน้ำมันมีความหนาแน่นน้อยกว่า จึงไหม้อย่างรวดเร็วกว่าแต่ดับได้ง่ายกว่า ในขณะที่ยางรถยนต์ มีเนื้อยางที่มีความหนาแน่นมากกว่า ติดไฟยากกว่า แต่เมื่อจุดติดแล้ว จะให้ความร้อนสูงมากกว่า และดับได้ยากกว่า มีอำนาจและเวลาในการทำลายล้างมากกว่า” รศ.ดร.ศิริรัตน์ กล่าว

นอกจากนี้ส่วนประกอบสำคัญหลักๆ ของยางรถยนต์ ไม่ได้มีแค่ยางสังเคราะห์ และ ยางธรรมชาติ แต่ยังมี ผงถ่านคาร์บอน(carbon black) น้ำมัน (Extender oil) ลวด และสารเคมี เช่น ซิงค์ออกไซด์ (Zinc Oxide: ZnO) และ ซัลเฟอร์ (Sulfur : S) เป็นองค์ประกอบ

ดังนั้น เมื่อยางรถยนต์เกิดการเผาไหม้จึงไม่ได้ปล่อยแค่เขม่าควัน ฝุ่นละออง ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ แต่ยังปล่อยสารพิษอีกมากมาย เช่น ก๊าซที่มีกำมะถันเป็นองค์ประกอบ ก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์ (H2S) ที่มีกลิ่นเหม็นรุนแรง อีกทั้งก๊าซชนิดนี้ยังมีภาวะเป็นกรด เมื่อสูดหายใจเข้าร่างกายอาจก่อให้เกิดการกัดกร่อนเนื้อเยื่อที่บริเวณทางเดินหายใจได้

อีกทั้งยางสังเคราะห์ที่ใช้ส่วนใหญ่จะเป็นยางชนิด สไตรีน-บิวทาไดอีน (Styrene-Butadiene Rubber : SBR) เมื่อเผาไหม้จะเกิดก๊าซพิษสไตรีนออกไซด์ ซึ่งนอกจากจะเป็นสารก่อมะเร็งแล้ว ยังเป็นอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจ และระบบทางเดินอาหารอีกด้วยจึงนับว่าเป็นอันตรายมาก

————————————-
ตัดตอน เรียบเรียงจาก:
ผู้เชี่ยวชาญชี้เผายางรถยนต์สร้างก๊าซพิษ-เลือดรับออกซิเจนน้อยลง
ข่าววิทยาศาสตร์ – โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 18 พฤษภาคม 2553 17:40 น.
http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9530000068779