นายวรพล บรรณจิต
ลูกจ้างทั่วไป
สถานีวิจัยลำตะคอง
ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์

ประวัติความเป็นมา

    บัวตอง (Mexican Sunflower Weed) เป็นไม้ประจำถิ่นของอเมริกากลางแถบเม็กซิโก มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Tithonia diversifolia (Hemsl.) A. Gray. เป็นไม้ดอกที่มีอายุการเจริญเติบโตหลายปี ลำต้นสามารถสูงได้ถึง 5-6 เมตร ลักษณะการออกดอกเป็นช่อเดียว บริเวณปลายกิ่ง ดอกมีสีเหลืองคล้ายดอกทานตะวัน แต่มีขนาดเล็กกว่า ดอกวงนอกเป็นหมัน กลีบเรียวมีประมาณ 12–14 กลีบ ดอกวงในสีเหลืองส้มเป็นดอกสมบูรณ์เพศ ใบของบัวตองเป็นใบเดี่ยว รูปไข่หรือแกมขอบขนาน มีขนขึ้นเล็กน้อยประปราย ปลายใบเว้าลึก 3–5 แฉก ชอบขึ้นในพื้นที่ที่มีอากาศเย็น กระจายพันธุ์มากบนยอดดอยที่สูงกว่าระดับน้ำทะเล 800 เมตรขึ้นไป โดยจะออกดอกในช่วงระหว่างเดือนพฤศจิกายนถึงต้นเดือนมกราคม พบการกระจายพันธุ์ครั้งแรกในประเทศไทยบริเวณจังหวัดแม่ฮ่องสอน และเจริญเติบโตอย่างกว้างขวางจนมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักโดยทั่วไปคือดอยแม่อูคอ อำเภอขุนยวม จนกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัดแม่ฮ่องสอน จนถึงปัจจุบัน

   

ชนิดพันธุ์ต่างถิ่น (Alien species)

    บัวตอง จัดเป็นพืชชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกราน (Invasive Alien Species-IAS) เรียกกันโดยทั่วไปว่า เอเลียนสปีชีส์ เป็นชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่เข้ามาในประเทศไทยแล้ว และสามารถเจริญเติบโตและมีการแพร่กระจายได้ในธรรมชาติ เป็นชนิดพันธุ์เด่นในสิ่งแวดล้อมใหม่ (dominant species) และเป็นชนิดพันธุ์ที่อาจทำให้ชนิดพันธุ์ท้องถิ่นหรือชนิดพันธุ์พื้นเมืองสูญพันธุ์ รวมถึงส่งผลคุกคามต่อความหลากหลายทางชีวภาพ และมีผลทำให้ระบบนิเวศเสียสมดุล

กรณีศึกษา…..การปลูกบัวตองบนยอดดอย “ลงทุนน้อยเสียหายมาก”

    บัวตอง ณ ดอยปุยหลวง หมู่บ้านห้วยฮี้ ตำบลห้วยปูลิง อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน เนื่องจากในอดีตได้มีความคิดที่จะทำให้ดอยปุยหลวงเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ จึงคิดวิธีหาทางทำให้ดอยปุยหลวงนั้นมีจุดโดดเด่นขึ้นเพื่อให้เป็นที่สนใจของนักท่องเที่ยว จึงได้ทำเลียนแบบที่ทุ่งดอกบัวตองดอยแม่อูคอ อำเภอขุนยวม โดยนำเมล็ดบัวตองมาปลูก บนยอดดอยปุยหลวง โดยบัวตองเป็นพืชที่ขยายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็วในธรรมชาติและยิ่งในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตด้วยแล้วจะทำให้บัวตองสามารถเติบโตและขยายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งโดยปกติแล้วบัวตองมีความสามารถในการแก่งแย่งสูง ขึ้นเป็นกอแน่นในที่โล่ง เพียงเวลาแค่ไม่นานบัวตองก็เริ่มปกคลุมดอยปุยหลวงเป็นบริเวณกว้าง ซึ่งทำให้พืชถิ่นเดิมที่ดอยปุยหลวงเริ่มมีการกระจายพันธุ์น้อยลง และประชากรลดจำนวนลงอย่างเห็นได้ชัด โดยรากของบัวตองสามารถปล่อยสารพิษยับยั้งพืชอื่น (Allelopathy) จึงทำให้พืชอื่นไม่สามารถขึ้นได้ ต้นแตกหน่อได้ดี ภายใต้ชั้นเรือนยอดของบัวตองไม่ปรากฏว่ามีกล้าของไม้ต้นหรือไม้พุ่มชนิดอื่นขึ้นเลย โอกาสที่พื้นที่เปิดโล่งจะมีการทดแทนของลูกไม้และกล้าไม้ที่อยู่โดยรอบไม่สามารถเกิดขึ้นได้ แต่ถึงเริ่มมีทุ่งดอกบัวตองแล้วดอยปุยหลวงก็ยังไม่เป็นที่สนใจของนักท่องเที่ยวมากนัก ซึ่งต่างจากทุ่งดอกบัวตองดอยแม่อูคอ อำเภอขุนยวม ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวประจำจังหวัดแม่ฮ่องสอนอย่างมาก……ในช่วงเวลานั้นดร.ปราโมทย์ ไตรบุญ นักวิจัยสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ได้มีโอกาสไปทำงานวิจัยที่ดอยปุยหลวง และเห็นสภาพดอยปุยหลวงที่เปลี่ยนไปจากเดิม จากที่เคยเห็นพันธุ์ไม้แปลกๆ หายาก แต่ตอนนี้กลับเริ่มหายไปและมีดอกบัวตองขึ้นมาแทนเป็นจำนวนมาก จึงเล็งเห็นถึงความสำคัญของพืชถิ่นเดิมและความหลากหลายทางชีวภาพของดอยปุยหลวง ว่าจะเกิดการเสื่อมโทรมและเปลี่ยนแปลงไปก่อนที่ยากจะแก้ไข จึงได้สร้างเครือข่ายการกำจัดบัวตองร่วมกับนักวิจัยจากกรมวิชาการเกษตร เพื่อที่จะได้เข้าไปให้ความรู้เกี่ยวกับผลกระทบต่างๆ ของบัวตองต่อการลดลงของความหลากหลายทางชีวภาพของท้องถิ่น และร่วมกันหาทางออกในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติของดอยปุยหลวง ซึ่งชาวบ้านก็เห็นสมควรแล้วให้ความร่วมมือที่จะให้ความสำคัญในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ โดยในขั้นต้นได้ดำเนินการให้ชาวบ้านหยุดการนำเมล็ดไปเพาะขยายพันธุ์เพื่อลดปริมาณของต้นบัวตอง ส่วนบัวตองที่กระจายพันธุ์บนดอยปุยหลวงนั้น ยังกินพื้นที่ไม่มากนักก็สามารถควบคุมโดยวิธีเชิงกลได้ เพื่อที่จะลดการใช้สารเคมีอันตรายต่างๆ โดยการถาง ตัดลำต้นและขุดรากทำลายทิ้งก่อนที่จะมีการออกดอก ติดเมล็ด และทำการสำรวจพื้นที่ประมาณ 4 เดือน/ครั้ง ว่าปริมาณของต้นบัวตองลดจำนวนลงมากน้อยเพียงใด ควบคุมดูแลจนกว่าปริมาณของต้นบัวตองจะลดลงไปจนหมดพื้นที่ดอยปุยหลวง และให้ดอยปุยหลวงคืนสภาพกลับมาเป็นดอยที่มีความหลากหลายของพันธุ์พืชดั้งเดิมและเกิดการฟื้นฟูอย่างยั่งยืนของชุมชนและธรรมชาติ ซึ่งความสวยงามของดอยปุยหลวงไม่ได้ขึ้นอยู่กับบัวตองอย่างที่ชาวบ้านคิด แต่จริงๆ แล้วความสวยงามที่แท้จริงของดอยปุยหลวงอยู่ที่ความหลากหลายทางชีวภาพ ที่ธรรมชาติสร้างสรรค์ขึ้นมาให้นั่นเอง

  สำหรับในพื้นที่ที่มีการระบาดของบัวตองในปริมาณมากแล้วนั้น หรือเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเศรษฐกิจ ที่ทำรายได้ให้กับชาวบ้านในพื้นที่แห่งนั้น ก็เป็นอีกด้านหนึ่งของบัวตองที่สามารถสร้างรายได้ สร้างอาชีพให้กับชุมชนได้ ทั้งนี้ในพื้นที่ดังกล่าวก็ควรมีการควบคุมจำกัดขอบเขตการกระจายพันธุ์ให้ชัดเจน และไม่ควรให้มีการแพร่พันธุ์เข้าสู่พื้นที่อื่นๆ ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพของพืชและสัตว์ เพื่อลดและหลีกเลี่ยงปัญหาที่อาจจะเกิดในอนาคต

  รวมถึงนักวิชาการและนักวิจัยเองก็ควรมีวิธีการในการประชาสัมพันธ์และทำความเข้าใจกับชาวบ้านและนักท่องเที่ยว ถึงผลกระทบและความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นต่อพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ ตลอดจนมีวิธีการจัดการกับพื้นที่ที่มีการกระจายพันธุ์แล้วให้สามารถควบคุมและจำกัดขอบเขตการกระจายพันธุ์ให้ชัดเจน เพื่อความยั่งยืนของความหลากหลายทางทรัพยากรชีวภาพของไทย ไว้ให้คนรุ่นหลังได้ชื่นชมแล้วใช้ประโยชน์ต่อไป

  • ความหลากหลายทางชีวภาพจังหวัดเชียงใหม่. 2552. ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกราน (Invasive alien species). [Online]. Available:
    http://chm-thai.onep.go.th/chm/data_province/Chiangmai/alien_spp.html (25 พฤษภาคม 2560)
  • จริยา แสวงทรัพย์สกุล. 2549. ดอกบัวตอง. [Online]. Available: http://www.thaigoodview.com/library/studentshow/ 2549/m6-3/no12/flower/sec01p07.htm (25 พฤษภาคม 2560)
  • ฟ้าใสวันใหม่. 2557. วัชพืชแสนสวย เอเลียนสปีชีส์. [Online]. Available: https://www.bloggang.com/m/viewdiary. php?id=fasaiwonmai&month=11-2014&date=24&group=2&gblog=631 (25 พฤษภาคม 2560)