ดร.ปฐมสุดา อินทุประภา

กองพัฒนาและจัดการความรู้องค์กร

ภาพประกอบจาก https://www.eisn-institute.de/fields-of-teaching-research-and-management/bioindicators-biomonitors/

        ในปัจจุบันสภาพอากาศเสีย น้ำเสีย และดินปนเปื้อนด้วยมลพิษกำลังคุมคามผู้คนในเมืองใหญ่ๆ หลายแห่งทั่วโลก แม้เทคโนโลยีในการบ่งชี้มลพิษที่คอยเตือนให้มนุษย์เราระวังอันตรายจากมลพิษต่างๆ จะก้าวหน้าขึ้น แต่เราก็ไม่ควรที่จะละเลยสิ่งเตือนภัยทางธรรมชาติจากมลพิษที่มีมาช้านานอย่างเจ้าสัตว์ตัวจ้อยต่างๆ เพราะเจ้าสัตว์จ้อยเหล่านี้ คือ ดรรชนีทางชีวภาพ (bio-indicators หรือ bio-monitors) ที่แท้จริง เพราะมันมีข้อ  ดีที่จะใช้เป็นตัวดรรชนีบ่งบอกระดับมลพิษในสิ่งแวดล้อมหลายประการ เนื่องจากพวก มันได้รับมลพิษเข้าสู่ร่างกายได้ตลอดเวลาและมันยังไวต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม ในขณะที่การวิเคราะห์ทางเคมีนั้น ต้องทำโดยการเก็บตัวอย่างที่ถูกเวลาและสถานที่เท่านั้น จึงจะสามารถวิเคราะห์มลพิษได้ แต่สำหรับพวกสัตว์ทั้งหลาย เมื่อได้รับมลพิษในระดับที่เป็นอันตราย พวกมันจะแสดงพฤติกรรมหรืออาการที่เกิดจากมลพิษให้เห็นภายนอกลำตัวได้ง่าย อีกทั้งการประเมินการสะสมของมลพิษในสิ่งแวดล้อมโดยผ่านทางห่วงโซ่อาหารของพวกมันก็ยังสามารถทำได้เช่นกัน นอกจากนี้ปริมาณมลพิษที่สะสมอยู่เนื้อเยื่อของพวกมันจะมีปริมาณสูงเพียงพอที่จะตรวจได้นาน แม้ว่าบางครั้งมลพิษในสภาพแวดล้อมจะสูญหายไปแล้ว

         สำหรับตัวอย่างของสัตว์ที่เคยมีการทดลองใช้และพบว่าได้ผลดีในการตรวจหาปริมาณสารพิษที่ปนเปื้อนอยู่ในสิ่งแวดล้อม ก็ได้แก่

  • แมลงน้ำ ปลา และลูกอ๊อด ถูกใช้วิเคราะห์หาจุดกำเนิดของมลพิษในลำน้ำและหาโลหะหนักบางชนิดที่ถูกปล่อยลงในแหล่งน้ำ เช่น ตะกั่ว โมลิบดีนัม
  • ไส้เดือน ใช้บ่งชี้มลพิษปนเปื้อนในดิน โดยมันจะแสดงอาการผิดปกติให้เห็น ชัดบนผิวหนัง
  • ผึ้ง จะถูกใช้ในการหามลพิษและสารกัมมันตภาพรังสีที่ปนเปื้อนอยู่ในอากาศ น้ำ อาหาร และบนพืช เพราะมันมีขนละเอียดบนลำตัวที่มีคุณสมบัติเป็นไฟฟ้าสถิต ทำให้ดึงดูดฝุ่นละอองและมลพิษให้ติดอยู่บนลำตัวได้ดี ทั้งยังสะดวกในการเก็บตัวอย่างวิเคราะห์ได้ทีละเป็นจำนวนมาก
  • หอย ถูกใช้ในการวิเคราะห์หาธาตุรอง (trace element) เช่น แคดเมียม โครเมียม และทองแดง รวมทั้งยากำจัดศัตรูพืชต่างๆ และปริมาณแบคทีเรียในน้ำ โดยเฉพาะหอยสองฝาที่อยู่กับที่บนพื้นน้ำและกินอาหารโดยการกรองผ่านเหงือก
  • ปลา ถูกใช้ในการวิเคราะห์ความเข้มข้นของมลพิษในแหล่งน้ำ โดยสังเกตจากการผิดปกติบนผิวลำตัว หรือจากพฤติกรรมในการดำรงชีวิต หรือวิเคราะห์จากเนื้อเยื่อของมันโดยตรง
  • นกและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็ก ถูกใช้ตรวจสอบปริมาณมลพิษในสิ่งแวดล้อม โดยการตรวจเลือด มูลและอวัยวะภายใน เช่น ตับ หัวใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนกและสัตว์ที่กินแมลงเป็นอาหาร ซึ่งมีอัตราการเผาผลาญในร่างกายสูง จึงกินอาหารจุกว่าสัตว์ขนาดใหญ่กว่ามาก

       นอกจากสัตว์แล้วพืชหลายก็ชนิดสามารถใช้เป็นดรรชนีบ่งชี้ปริมาณและชนิดของมลพิษในสิ่งแวดล้อมได้ดีเช่นเดียวกัน เช่น ไลเคนส์ ใช้วัดปริมาณมลพิษในอากาศ และนี่ก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของการศึกษาธรรมชาติเพื่อช่วยในการปกป้องธรรมชาติด้วยกัน

อ้างอิงจาก https://www.eisn-institute.de/fields-of-teaching-research-and-management/bioindicators-biomonitors/